ได้ยินคำว่า มะดัน หลายคนคงน้ำลายสอ ด้วยความเปรี้ยวปาก มะดันเป็นญาติสนิทของมังคุด แต่มีบุคคลิกคนละขั้วกันเลย มังคุดนั้นหวานอย่างเดียว ไม่มีเปรี้ยวสักนิด ส่วนมะดัน เปรี้ยวล้วนๆ หาความหวานไม่เจอ และที่แตกต่างอีกอย่างคือ ชะตากรรมของทั้งคู่ มังคุด ได้รับความนิยม จนได้ฉายา ราชินีแห่งผลไม้ ส่วนมะดัน จัดเป็นผลไม้พื้นบ้าน ที่นับวันจะหากินยากขึ้นทุกที
มะดัน (Garcinia)
- มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตที่ราบลุ่มของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- เป็นพืชที่ชอบความชื้น ทนต่อความแฉะ และน้ำท่วมขังได้เป็นเวลานาน มักพบขึ้นเองริมตลิ่ง เพราะผลลอยน้ำมา
- มะดันเป็นไม้ทนน้ำท่วมขังดีที่สุดชนิดหนึ่ง จึงเหมาะสำหรับปลูกในบริเวณที่อาจเกิดน้ำท่วม
- เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 4-5 เมตร ใบหนาทึบเขียวเข้ม ด้านบนใบเข้มเป็นมัน มีทรงพุ่มสวบงาม ปลูกเป็นไม้ประดับบ้านได้ครับ
- ผลทรงกระบอก ผิวเรียบ สีเขียว ฉ่ำน้ำ ภายในมีเมล็ด 3-6 เมล็ด ยาวตามผล หากเมล็ดใดลีบผลด้านนั้นจะเบี้ยวงอ
ประโยชน์
- ทางสมุนไพร ใช้เป็นยาได้ตั้งแต่ยอดจนถึงราก ทำยาดองเปรี้ยวเค็ม บำรุงระดู เป็นยาขับปัสสาวะ ยาระบายอ่อนๆ
- ผลสด กินแก้ไอ แก้เสมหะ
- ผล นำมาดองน้ำเกลือ ใช้รับประทานเพื่อ แก้อาการน้ำลายเหนียว หรือเป็นเมือกในลำคอ
- ผลมีรสเปรี้ยวจัดใช้แทนมะนาวได้ เช่น ตำน้ำพริกต่างๆ เช่น น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกพริกไทยอ่อนน้ำพริกทรงเครื่อง น้ำพริกหมูสับกากหมู กรือใช้ใส่ในแกงที่ต้องการความเปรี้ยว เช่น แกงส้ม และต้มยำ ทำหลน ซอยฝอยเป็นเครื่องเคียงข้าวคลุกกะปิ ฯลฯ
- ผลสด แค่เอามาจิ้มกะปิ หรือ น้ำปลาหวาน ก็อร่อยสุดยอดแล้วครับ
- ผลมะดันนิยมนำมาดอง แช่อิ่ม หรือเชื่อม ให้รสชาติหวานอมเปรี้ยว อวบฉ่ำกรอบ
- ในผลมะดันที่เรากิน 100 กรัม มี วิตามินC 5 มิลลิกรัม ใยอาหาร 0.4 กรัม แคลเซียม 17 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 7 มิลลิกรัม วิตามินA 431 หน่วยสากล (I.U.) ทำให้เราได้ประโยชน์จากวิตามิน C และ A มิใช่น้อย
ปิดท้าย
- มะดันเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ และยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างเราท่านทั้งหลาย แต่ปัจจุบันหากินยากขึ้น เนื่องจากมีการปลูกน้อยมาก เราจึงพบเห็นอาหารที่ใช้มะดันน้อยลงไปด้วย
- ถ้ามีการปรับปรุงพันธุ์มะดัน ให้ผลดก ใหญ่ขึ้น ออกตลอดปี น่าจะทำให้มีการปลูกขายมากขึ้น มะดันจะได้พ้นสภาพ ใกล้สาบสูญเสียทีครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น