วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

20 ปี แหนมฉายรังสี


    ผมเคยเขียนเรื่อง แหนมฉายรังสี ลงในวารสารชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ เมื่อ มิ.ย. 2535 เวลาล่วงเลยมาได้ 20 กว่าปี ตอนนั้นอาหารที่ได้รับการฉายรังสีเพื่อทำลายพยาธิ และจุลินทรีย์ที่ก่อโรค ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก แถมยังคลางแคลงใจกันว่าจะมีรังสีตกค้างเป็นอันตรายต่อคนกินหรือไม่ ยุคนั้น แหนมฉายรังสี นี่แหละครับ ยืนหยัดออกมาเป็นอาหารชนิดแรก

  • ตอนนั้นผมเชียร์แบบสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะคนที่ชอบแหนมดิบ ก็จะกินแหนมดิบวันยังค่ำ จะให้มานึ่ง มาทอด แล้วกิน เขาไม่ชอบ เพราะรสชาติ และเนื้อสัมผัสมันเปลี่ยนไปราวฟ้ากับเหว 
  • มีผู้คนมากมายที่ยอมเสี่ยงกับ พยาธิตัวกลม (Trichinella spiralis) พยาธิตัวตืด (Taemia solium) รวมทั้ง เชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella) ที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง ในแหนมดิบ เพราะหลงเสน่ห์รสชาติแบบดิบๆ ของแหนม
  • คนที่ยอมเสี่ยงกินแหนมดิบ ก็ได้เสี่ยงสมใจ บางคนแต่ท้องร่วง บางคนเจอพยาธิในทางเดินอาหาร และบางคนได้รางวัลใหญ่ พยาธิเข้าไปอยู่ในกล้ามเนื้อทั่วร่างกายต้องเวียนเข้า-ออกโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดออก 
  • บางคนถูกรางวัลที่ 1 พยาธิขึ้นไปอยู่ในสมอง กลายเป็นเรื่องใหญ่มาก เหมือนมีระเบิดเวลาฝังอยู่ในหัว จะระเบิดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ชีวิตกำลังดีๆ อยู่แท้ๆ แค่กินแหนมดิบเท่านั้นเอง

แหนมฉายรังสีดีอย่างไร? 

  • ดีแน่ๆ เพราะการฉายรังสี ตามกรรมวิธีมาตรฐาน จะทำให้แหนม ปลอดจากพยาธิ และเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค โดย ไม่ทำให้รสชาติของแหนมเปลี่ยนแปลงไป เวลากินก็ยังได้อารมณ์เหมือนกินแหนมดิบทุกประการ
  • รังสีที่ใช้ คือ รังสีแกมมา ซึ่งมีลักษณะเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีอำนาจทะลุทะลวงผ่านวัตถุได้สูง โดย ไม่ก่อให้เกิดสารกัมมันตรังสีในวัตถุที่มันวิ่งผ่านไป ดังนั้น จึงไม่มีสารรังสีตกค้างในแหนม อย่างแน่นอน
  • มีงานวิจัยรองรับจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติฯ และคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า รังสีแกมมา ในปริมาณ 2 กิโลเกรย์ สามารถ ทำลายเชื้อซัลโมเนลลา (ที่อาจติดมากับเนื้อหมูที่ใช้ทำแหนม) ได้หมดสิ้น และทำลายพยาธิที่ติดมาได้หมดสิ้น เช่นกันครับ
  • สำหรับท่านที่ห่วงเรื่องรสชาติ ไม่ต้องห่วงครับ ถึงแหนมจะเป็นอาหารหมัก ที่ต้องอาศัยเชื้อจุลินทรีย์ที่สร้างความเปรี้ยว อย่างจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ในกระบวนการผลิต เขาจะรอ 1-3 วัน ให้หมักได้ที่ จนรสชาติดีก่อน แล้วค่อยนำไปฉายรังสีครับ

ปิดท้าย 

  • ที่เล่ามาทั้งหมด ไม่ได้เป็นการเชียร์ให้กินแหนมนะครับ เพียงแต่เข้าใจหัวอกคนชอบกินแหนมด้วยกันดี เลยเสนอทางเลือกให้ สำหรับคนที่ชอบแหนมแบบดิบ ไม่ชอบกินแหนมทอด นึ่ง ย่าง 
  • ถีงจะชอบแหนมมากมาย ก็อย่ากินเป็นประจำทุกวันเลยครับ เพราะแหนมมักจะมีสารพวก เกลือไนไตรต์ ไนเตรต (ดินประสิว) ผสมอยู่ด้วย โดยเฉพาะอันที่มีสีชมพู ถึงจะมีปริมาณไม่เกินที่กฏหมายกำหนด แต่กินมากๆ ก็อาจส่งผลต่อร่างกายได้ครับ 

หมายเหตุ 


  • ทุกเรื่องราวของ vcanfit ท่านสามารถแขร์ได้เลย ไม่มีหวง จะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้คนในวงกว้าง ครับ
  • สงสัยเรื่องอาหาร/สุขภาพ อยากได้คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อิงหลักวิชาการ ลองเข้า Google พิมพ์ vcanfit  เว้นวรรค แล้วพิมพ์ คำที่ต้องการหา (เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้) จากนั้นกด ENTER ครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น