วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อย่าให้ "รสเค็ม" เป็นรสชาติประจำชาติ

"คนไทยกินเค็มกันจัง น้ำจิ้มก็เยอะ เค็มๆ ทั้งนั้น" เพื่อนต่างชาติเปรยขึ้นมาตอนพากันไปกินร้านปิ้งย่าง ว่าจะเถียงมันว่า "ไม่ใช่คนไทยทุกคนหรอก" แต่พอเหลียวไปดูโต๊ะอื่นๆ ถ้วยน้ำจิ้มมากมาย เต็มไปหมด เลยต้องเอามาคิดเป็นการบ้าน ว่าจริงหรือเปล่า(ฟะ) ที่เขาว่า

ลดเค็ม ลดโรค

  • ความเค็ม เป็นความรู้สึกที่เรารับรู้ได้จากตุ่มรับรสที่ลิ้น ซึ่งแต่ละคนก็จะรู้สึกถึงความเค็มได้ไม่เท่ากัน
  • สิ่งที่มากับความเค็ม คือ โซเดียม (Sodium) ซึ่งเป็นสารจำเป็นสำหรับร่างกายเรา ทำหน้าที่ในการควบคุมความสมดุลของของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ ฯลฯ
  • ร่างกายเราขาดโซเดียมไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ต้องการมากจนเกินไป ร่างกายเรามีความสามารถรับโซเดียมได้ประมาณ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เท่านั้น
  • เวลาที่เรากินอาหารเค็มมากๆ มักจะทำให้กระหายน้ำมากขึ้น เพราะโซเดียมดึงน้ำเข้ามาในหลอดเลือด  ยิ่งได้รับโซเดียมมาก ก็ยิ่งดึงน้ำเข้ามามาก ทำให้เกิดการคั่งของน้ำในร่างกายมากขึ้น น้ำเลือดก็มากขึ้น(แต่หลอดเลือดกว้างเท่าเดิม) ทำให้ ความดันโลหิตสูง ถ้าสูงมากๆ เส้นเลือดอาจแตก หรือฉีกขาดได้เลยครับ อันตรายมาก
  • เมื่อได้รับโซเดียมมากๆ บ่อยๆ ไต ซึ่งทำหน้าที่ขับโซเดียมออกจากร่างกายก็ต้องทำงานหนัก อีกทั้งโซเดียมเป็นตัวเร่งการทำลายเส้นเลือดอยู่ด้วย พอเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไตถูกทำลายมากๆ ก็จะเร่งให้เกิดไตวายเรื้อรัง ในที่สุดก็ต้องไปนอนฟอกไต

ปริมาณโซเดียมในอาหาร

  • เกลือ 1 ช้อนชา มีโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม
  • น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,160-1,420 มิลลิกรัม
  • ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม
  • ซีอิ๊ว 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 960-1,420 มิลลิกรัม
  • ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 420-490 มิลลิกรัม
  • กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,430-1,490 มิลลิกรัม
  • นอกจากนี้เรายังได้รับ โซเดียม ที่ แฝงอยู่ในอาหาร ทั้งที่เค็มและไม่เค็ม ด้วย เช่น อาหารแปรรูป ผงชูรส ซุปก้อน อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารถุงปรุงสำเร็จ ขนมกรุบกรอบ ขนมที่ใช้ผงฟู ฯลฯ

มาลดโซเดียมกัน 

  1. ตั้งเป้า ค่อยๆลดปริมาณความเค็มลงทีละ 5-10% ทีละนิด จนเหลือ 50% อาจใช้เวลา 5-6เดิอน ให้สมองค่อยๆ ปรับความเคยชิน จนเรากินได้อร่อยเหมือนเดิม แต่ได้รับโซเดียมลดลง
  2. ไม่ปรุงเพิ่ม ในการกินอาหารนอกบ้าน คนปรุงเขาประโคม น้ำปลา น้ำตาล ผงชูรส มาให้เยอะอยู่แล้วครับ
  3. ลดหวาน อันนี้อาจดูแปลกไม่น่าเกี่ยว แต่ก็เกี่ยวครับเพราะพอเราหวานเลี่ยน ร่างกายมักจะเรียกร้องรสเค็มมาตัด ดังนั้นการลดหวานก็ช่วยลดเค็มได้อีกทางครับ
  4. อ่านฉลาก อาหารที่มีฉลากกำกับ จะแสดงปริมาณโซเดียม และปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน ทำให้เราสามารถคำนวณปริมาณที่ควรกินได้อย่างง่ายๆ ครับ

ปิดท้าย

  • ลองทำดูนะครับ แล้วจะรู้สึกดีกับตัวเองมาก "ลดเค็ม ก็ ลดโรค" ครับ
  • ขอขอบพระคุณข้อมูลดีๆ จาก  จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับ สร้างสุข ปีที่ 10 ฉ.149 มี.ค.2557:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

หมายเหตุ

  • ทุกเรื่องราวของ vcanfit ท่านสามารถแขร์ได้เลย ไม่มีหวง จะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้คนในวงกว้าง ครับ
  • สงสัยเรื่องอาหาร/สุขภาพ อยากได้คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อิงหลักวิชาการ ลองเข้า Google พิมพ์ vcanfit  เว้นวรรค แล้วพิมพ์ คำที่ต้องการหา (เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้) จากนั้นกด ENTER ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น