วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เสื่อม...เพราะกินน้ำตาล

น้ำตาล มีทั้งประโยชน์ และ โทษ ต่อร่างกายเราครับ ถ้าเราควบคุมได้ก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าติดหวานงอมแงมจนควบคุมไม่ได้ละก็.....

น้ำตาล กับ ร่างกายเรา 

  • น้ำตาลมีหน้าให้พลังงาน สำหรับการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบการหายใจ การย่อยอาหาร ระบบประสาท ฯลฯ
  • ร่างกายเราจะใช้พลังงานจากน้ำตาลก่อน แล้วค่อยหันไปใช้พลังงานจากไขมัน หรือโปรตีน

เมื่อเรากินน้ำตาลมากเกินไป 

1. เกิดโรคเบาหวาน (Diabetes)

  1. เมื่อน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ที่เล็กพอจะเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อให้ร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้
  2. ถ้าเราได้รับน้ำตาลในปริมาณสูง ระดับของน้ำตาลในเลือดก็จะสูงขึ้น ฮอร์โมนอินซูลินที่ถูกสร้างโดยตับอ่อน จะออกมาทำหน้าที่คอยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
  3. การที่เรากินน้ำตาลมากๆ ทุกวัน ตับอ่อนก็ต้องทำงานหนักเพื่อเร่งสร้างอินซูลิน นานๆเข้า ตับอ่อน ก็จะกลายเป็น ตับอ่อนล้า คือตับอ่อนเสื่อมจนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอจที่ะไปคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ น้ำตาลในเลือดเลยสูง เกิดโรคเบาหวาน

2. เร่งความเสื่อมของร่างกาย(ทำให้แก่ชรา)

  1. เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นประจำ จะเกิด ปฏิกิริยาไกลเคชั่น (Glycation) ที่จะไปเร่งกระบวนการเสื่อมของร่างกาย หรือเรียกง่ายๆว่า ทำให้แก่เร็วขึ้น นั่นเอง
  2. ไกลเคชั่น เกิดจากโมเลกุลของน้ำตาลไปทำปฏิกิริยากับโปรตีนซึ่งเป็นส่วนประกอบของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเรา ทำให้เกิดสารขึ้นมากลุ่มนึง เรียกว่า AGEs (Advanced Glycation End-Products) ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย
  3. เจ้า AGEs นี้ ถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับเซลล์ร่างกายบริเวณไหนก็จะทำให้เซลล์บริเวณนั้นเสื่อม มีการทำงานที่แย่ลง
  4. เมื่อมี AGEs มาก และนานวันเข้า จะก่อให้เกิด
    1. การทำลายคอลลาเจน และใยโปรตีนที่ผิวหนังทำให้ เกิดริ้วรอย และจุดด่างดำ
    2. ทำให้เซลล์สมองเสื่อม เกิดโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease)
    3. ผนังหลอดเลือดแดงจะแข็ง เปราะบาง และยืดหยุ่นน้อยลง ทำให้ เกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) ได้
    4. ถ้าไปทำปฏิกริยากับสายพันธุกรรม ก็จะทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิดไปจากเดิม ทำให้ ร่างกายเสื่อมอย่างถาวร

ถ้าไม่อยากเสื่อม

  1. ลดของหวานลง เลือกกินผลไม้สดแทนขนมหวาน
  2. ชิมก่อนเติมเครื่องปรุงทุกครั้ง เพราะบางทีคนทำอาหารเขาทำมาหวานแล้ว
  3. ถ้าอยากขนมหวาน ให้เลือกที่เป็นขนมหวานธัญญพืช เช่น ถั่วแดง ถั่วเขียว ลูกเดือย ข้าวโพด แต่อย่าบ่อย
  4. บ้วนปากทุกครั้งหลังกินของหวาน เพราะรสชาติความหวานที่ติดลิ้นอยู่ จะทำให้อยากกินของหวานอย่างอื่นต่อไปอีก
  5. ให้เวลากับร่างกายเรา ในการปรับสภาพการรับรู้รส ที่เคยเสพติดความหวาน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ทำให้ช่วงแรกๆ จะรู้สึกว่าอาหารขาดรสหวานและไม่อร่อยเอามากๆ แต่พอเวลาผ่านไปร่างกายเราจะสามารถปรับตัวจนชินกับรสชาติอาหารที่ไม่หวานได้เองครับ

หมายเหตุ

  • ทุกเรื่องราวของ vcanfit ท่านสามารถแขร์ได้เลย ไม่มีหวง จะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้คนในวงกว้าง ครับ
  • สงสัยเรื่องอาหาร/สุขภาพ อยากได้คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อิงหลักวิชาการ ลองเข้า Google พิมพ์ vcanfit  เว้นวรรค แล้วพิมพ์ คำที่ต้องการหา (เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้) จากนั้นกด ENTER ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น