วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

น้องนางบ้านนา กับ เทพธิดาดอย


อันนี้จำเขามาอีกทีครับ "น้องนางบ้านนา กับ เทพธิดาดอย" ฟังแล้วออกแนวดราม่าคล้ายๆ ดอกฟ้ากับหมาวัด อะไรทำนองนั้น ครับ
เอาเข้าจริง กลายเป็นการขนานนามให้ น้ำปู๋ (อยู่ในนา) จับคู่กินกับ หน่อไม้ต้ม (อันนี้เป็นเทพธิดาดอยได้ไงก็ยังงงๆ อยู่ครับ ใครทราบช่วยบอกที) 

น้ำปู๋

  • น้ำปู (ออกเสียงตามภาษาถิ่นว่า น้ำปู๋) เป็นวิธีการถนอมอาหารของคนล้านนา
  • น้ำปู๋มีส่วนประกอบ สูตร และเทคนิคการทำที่หลากหลายมากแล้วแต่ถิ่น
  • น้ำปู๋มีดีที่ผ่านความร้อนมาเยอะ จึงค่อนข้างปลอดภัยจากพยาธิ และเชื้อโรคต่างๆ
  • เอาน้ำปู๋มาทำ น้ำพริกน้ำปู๋ กินกับหน่อไม้ไร่ต้ม อร่อยมาก เข้ากันจนได้ชื่อว่า "น้องนางบ้านนา กับ เทพธิดาดอย"
  • กินน้ำพริกน้ำปู๋ กับข้าวเหนียวนึ่ง หรือข้าวสวยร้อนๆ แล้วมีผักสด ผักลวก เยอะๆ ได้ประโยชน์จากผักมากมายครับ ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเหนือ ใต้ กลาง อิสาน กินน้ำพริกกับผักแบบนี้ประจำ ถึงได้แข็งแรง อายุยืน ครับ
  • น้ำปู๋ นำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น ทำน้ำพริกน้ำปู ใส่แกงหน่อไม้ ใส่ส้มตำมะละกอ หรือส้มตำส้มโอ

วิธีทำน้ำปู๋ (เอามาให้ดูว่าเขาผ่านความร้อนมาเยอะจริงๆ)

  1. นำปูนา(ที่จับได้)มาล้างน้ำให้สะอาดหลายๆครั้ง ให้หมดโคลน
  2. นำปู ตะไคร้ ข่า ใบฝรั่ง ใบมะกอก ใส่ครก ตำให้ละเอียด
  3. นำมากรองด้วยผ้าขาวบาง จะได้น้ำปู(น้ำปู๋) ลงหม้อดิน
  4. นำกากปูมาตำซ้ำอีก เติมน้ำเล็กน้อย แล้วกรองครั้งที่ 2
  5. เอาใบตอง มัดปากหม้อกันไม่ให้แมลงลงไปได้ ทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้ได้รสชาติ
  6. รุ่งขึ้นนำน้ำปู๋ไปเคี่ยว โดยใช้ไฟอ่อนๆ และหมั่นคนอยู่เสมอ
  7. เคี่ยวจนกระทั่งน้ำปูเกือบจะแห้ง (เกือบ 10 ชั่วโมง) ก็จะเติมเกลือ พริก กระเทียม แล้วแต่สูตร
  8. เมื่อน้ำปูแห้ง ก็จะจับกันเป็นก้อนสีดำๆ จึงนำมาใส่ กระปุก เก็บไว้กินได้นานๆ

ส่งท้าย

  • ปัจจุบันใช้เครื่องบดไฟฟ้า ง่ายกว่าการตำ (แต่ผมว่าอร่อยน้อยกว่า)
  • การจับปูนา เป็นการกำจัดศัตรูพืชในตัว แถมยังได้กิน ได้ขาย สร้างรายได้เพิ่ม

หมายเหตุ

  • ทุกเรื่องราวของ vcanfit ท่านสามารถแขร์ได้เลย ไม่มีหวง จะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้คนในวงกว้าง ครับ
  • สงสัยเรื่องอาหาร/สุขภาพ อยากได้คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อิงหลักวิชาการ ลองเข้า Google พิมพ์ vcanfit  เว้นวรรค แล้วพิมพ์ คำที่ต้องการหา (เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้) จากนั้นกด ENTER ครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น