ภาพของปลาสลิดที่ที่พอพูดแล้วนึกถึงเลยก็คือ ปลาตากแห้ง ไร้หัว มีน้อยคนที่จะเคยเห็นปลาสลิดแบบเต็มๆตัว (ด้วยตาตัวเอง) ที่ภาพลักษณ์ของปลาสลิดเป็นแบบนี้ก็เพราะความเอร็ดอร่อย จนโด่งดังของมันน้่นแหละครับ
ปลาสลิด (Snake Skin Gourami)
- ปลาสลิด หรือ ปลาใบไม้ เป็นปลาน้ำจืดในภาคพื้นเอเซีย พบมากใน ไทย กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา
- ขนาดตัวโดยเฉลี่ย 10-16 เซนติเมตร พบขนาดใหญ่สุดถึง 25 เซนติเมตร
- ปลาสลิดเป็นปลามหัศจรรย์ ไม่มีโรค มีความต้านทานต่อโรคสูงมาก เลี้ยงง่าย ขายรายได้ดี
- ในเมืองไทยนิยมเลี้ยงกันมากในแถบบริเวณภาคกลาง ซึ่งมักจะเลี้ยงอยู่ในนาข้าว
- คนเลี้ยงปลาสลิด เรียกว่า ชาวนาปลาสลิด และบ่อเลี้ยงปลาสลิด เรียกว่า แปลงนาปลาสลิด หรือ ล้อมปลาสลิด
- แหล่งปลาสลิดที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ ปลาสลิดบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วไป
- ปลาสลิดบางบ่อมักจะตัวอ้วนใหญ่กว่าปลาสลิดที่อื่นๆ เพราะว่าที่บางบ่อเป็นน้ำกร่อยเกิดไรแดงได้ง่าย ไรแดงเป็นอาหารโปรดของปลาสลิด ทำให้ปลาตัวโตน่ากินกว่าที่อื่นๆ
- ปัจจุบันพื้นที่เลี้ยงปลาสลิดที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
ปลาสลิดตากแห้ง
- ปลาสลิดเป็นปลาที่มีลำตัวแบนเหมาะในการทำปลาเค็ม(ตากแห้ง)มากๆ
- ที่จะต้องตัดหัวปลาสลิดออก เนื่องจากปลาสลิดมีมันมาก โดยเฉพาะในส่วนท้องหรือพุงปลา ซึ่งก่อนจะนำมาคลุกเคล้าเกลือเพื่อแปรรูปนั้น จะต้องควักไส้ควักพุง ตัดหัวออก เพื่อเวลาตากแดดแล้วปลาจะได้แห้งสนิท ไม่มีกลิ่นเหม็นเน่า
- วิธีทำ คือ หมักเกลือไว้ 1 คืน แล้วน้ำมาล้างเกลือออก นำไปตากแดด
- ถ้าตากไว้ 1 วัน ก็เรียกว่า ปลาสลิดแดดเดียว เพื่อให้แห้งพอหมาด ๆ เหมาะสำหรับทอดให้กรอบกำลังดี เนื้อปลาจะนุ่ม ไม่แข็งกระด้างเกินไป ถ้าตาก 2 วัน ก็เรียกว่า ปลาสลิดสองแดด
ปลาสลิดหอม
- ผู้เลี้ยงปลาสลิดในอำเภอบางบ่อ เป็นผู้แปรรูปปลาสลิดสดเป็น ปลาสลิดหอม จากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น
- ปลาสลิดหอม บางบ่อ เขาจะปล่อยให้เนื้อตายจนขาวขุ่นก่อน ค่อยใส่เกลือ (อาจใช้เวลาเป็นชั่วโมง) แล้วหมักก่อนนำไปตากแดดจนแห้งสนิท เมื่อได้ปลาสลิดออกมาจะเรียกว่าปลาหอม (แต่บางคนอาจไม่ชอบก็ได้ครับ เพราะจะมีกลิ่นตุๆ เล็กน้อย)
- ส่วนปลาสลิดที่ไม่ใช่แบบปลาหอม เขาจะนำไปใส่เกลือเลยไม่ต้องปล่อยให้เนื้อตายก่อน
- ปัจจุบันยังไม่มีที่ไหนผลิตปลาสลิดหอมได้รสชาติดี เหมือนกับปลาสลิดหอมของอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
การเลือกซื้อปลาสลิด
- ลองกดๆดูว่าเนื้อเข็งไหม เนื้อจะต้องไม่นิ่มฉุ
- ดมดูต้องไม่เหม็น
- เวลาซื้อเลือกแบบเกรดดีตัวโตไปเลย (ถ้าไม่ได้กินบ่อย กินทั้งที่เอาแบบอร่อยจุใจไปเลย)
- การดูว่าปลาสลิดเค็มหรือไม่ ดูได้จากสีของปลาหลังทอด หากเป็นสีขาวจะเค็ม (อันนี้เอาไว้เลือกชิ้นปลาสลิดที่เขาทอดแล้ว)
ประโยชน์
- การกินปลานั้นดีต่อสุขภาพ เพราะเนื้อปลาเป็นแหล่งของโปรตีนที่ย่อยง่าย มีแร่ธาตุ และวิตามิน เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินA วิตามินB12 และ วิตามินD
- ปลาสลิดจัดว่าเป็นปลาที่มีไขมันปานกลาง โดยมีไขมัน 5.9 กรัม/100กรัม ซึ่งมากกว่าปลานิล 3 เท่า แต่น้อยกว่า ปลาดุก ปลาช่อน และปลาสวาย
- ปลาสลิด มีกรดไขมัน โอเมก้า-3 อยู่ด้วย 0.36 กรัม/100 กรัม
ปิดท้าย
- ปลาสลิดทอด กินกับข้าวต้มร้อนๆ เป็นอาหารเบาๆ ที่เอร็ดอร่อย และย่อยง่ายดีครับ
- เดี๋ยวนี้ไม่ต้องทอดเองก็ยังได้ เพราะมีขายแบบแกะเนื้อทอดมาเรียบร้อย
- ไข่ปลาสลิดทอด ก็มีขายด้วย อันนี้มันมากๆ เลยนะครับ กินอร่อย แต่ถ้ากินเข้าไปมาก เวลาถ่ายแล้วจะล้างก้นยาก (ไขมันจะซึมแฉะ เชียวละครับ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น