อาหารอีสานส่วนใหญ่มักเป็นอาหารประหยัดพลังงาน ใช้ความร้อนไม่มากนัก แต่ แจ่วฮ้อน เป็นอาหารอีสานที่ใช้พลังงานเยอะหน่อย มีฟืนไฟที่ต้องติดตลอดเวลาเอาไว้ให้จุ่ม แล้วไปจิ้ม(น้ำจิ้ม) ก่อนส่งเข้าปาก จริงๆแล้ว แจ่วฮ้อน มีประโยชน์ และสามารถจัดเป็นพวกอาหารเพื่อสุขภาพได้เลยครับ
แจ่วฮ้อน
- ไม่มีบันทึกความเป็นมา และประวัติการคิดค้นเมนู แจ่วฮ้อน นี้ขึ้นมา ผมเลยสันนิษฐานเอาเองว่าเป็นการประยุกต์ เพื่อกินสุกียากี้ แต่ให้มีความแซบแบบอาหารอีสาน จนกลายเป็นอาหารพื้นบ้านที่ถูกปากคนไทยทั่วไป มีร้านอาหารประเภท แจ่วฮ้อน จิ้มจุ่ม เปิดกันเต็มไปหมด
- ลักษณะการกิน ของแจ่วฮ้อนเช่นเดียวกันกับสุกี้ยากี้ บางคนเลยเรียกแจ่วฮ้อนว่า สุกี้อีสาน
- เครื่องปรุง มี เนื้อหมู พร้อมเครื่องใน (หรือเนื้อวัว) หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ พอดีคำ หมักด้วยซีอิ้วขาว พริกไทยป่น ไข่ไก่
- น้ำซุป เป็นน้ำต้มกระดูกหมู ใส่ตะไคร้ ใบมะกรูด เกลือ น้ำปลา พอเดือดใส่ใบโหระพา
- วิธีกิน คือ นำเนื้อหมูที่หมักไว้ ลวกลงในน้ำซุป จากนั้นจิ้มกับน้ำจิ้ม
- น้ำจิ้ม ทำจาก พริกป่น ข้าวคั่วป่น น้ำปลา มะนาว น้ำมะขามเปียก โรยต้นหอมหั่นฝอย ซึ่งน้ำจิ้มเป็นเคล็ดลับสำคัญของแต่ละร้าน บางเจ้ามีแบบใส่ดีให้ขมๅ หน่อย และเพิ่ม ตะไคร้ ใบมะกรูดซอยละเอียด ก็มีครับ
- ผักที่ใช้ ได้แก่ ผักบุ้งจีน ขึ้นฉ่าย ผักกาดขาว อาจมีวุ้นเส้นด้วยก็ได้
ประโยชน์ที่ได้รับ
- เป็นอาหารที่ ให้แคลอรี่ไม่มาก (โดยเฉพาะแคลอรี่จากแป้ง) และอิ่มท้องดี คนที่กำลังลดน้ำหนักก็กินได้
- ได้รับ สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ได้ แร่ธาตุ และวิตามินต่างๆ รวมทั้ง เส้นใยอาหารจากผักต่างๆ
- ได้กินอาหารที่ค่อนข้างร้อน แถมมีสมุนไพรช่วยขับลม อย่าง ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกไทย ใบโหระพา ทำให้ซดน้ำแล้วคล่องคอ สบายท้อง
- เดี๋ยวนี้แจ่วฮ้อน จิ้มจุ่ม มีการใช้อาหารทะเลเป็นวัตถุดิบด้วย ทั้งกุ้ง ปลาหมึก ฯลฯ ซึ่งให้คุณค่าของไอโอดีน จากอาหารทะเล
เทคนิคการกินแจ่วฮ้อนให้สุขภาพดี
- การลวกเนื้อสัตว์ ควรลวกให้สุก นะครับ บางคนลวกนิดเดียวเพื่อให้เนื้อหวานนุ่มลิ้น ซึ่งอาจเสี่ยงต่อเชื้อโรคได้
- ถ้าไม่อยากลวกนาน ต้องแล่เนื้อสัตว์ให้ชิ้นบางมากๆ ก็พอช่วยได้ครับ
- ผักที่ใช้ควรล้างมาอย่างสะอาด และมือที่ใช้เด็ดผักลงหม้อก็ต้องล้างให้สะอาดด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น