เวลาพูดถึงขี้หู อาจดูเป็นสิ่งสกปรก ที่ต้องกำจัดให้หมดจากร่างกาย แต่จริงๆแล้วขี้หูนั้นมีประโยชน์การกำจัดขี้หูอย่างไม่เหมาะสมกลับกลายเป็นการก่อให้เกิดอันตรายกับหูเสียมากกว่าครับ
ขี้หู(Ear Wax) คืออะไร?
- เซลล์บุผิว ในรูหู จะไม่หลุดลอกออกไปเองเหมือนผิวหนังบริเวณอื่นๆ แต่จะสะสมเป็นชั้นๆ และเป็นองค์ประกอบสำคัญของขี้หู (60% ของน้ำหนักขี้หูทั้งหมด) นอกจากนี้ขี้หูยังประกอบไปด้วย ไขมัน(Oil) จากต่อมไขมันในรูหู และ ขี้ผึ้ง (Wax) จากต่อมเหงื่อที่ทำหน้าที่พิเศษในการผลิตขี้หู
ขี้หูเกิดตรงไหน?
- ขี้หูเกิดขึ้นตรงบริเวณใกล้ๆ กับแก้วหู โดยมีลักษณะ เหลว นุ่ม ไม่มีสี และ ไม่มีกลิ่น
- โดยปกติ ขี้หูจะมีการเคลื่อนที่จากแถวๆแก้วหู ออกไปยังช่องหูชั้นนอกได้เอง ไม่จำเป็นต้องไปแคะออก
- ขี้หูจะค่อยๆ เคลื่อนที่ออกมาภายนอกโดยการพัดโบกของเซลล์ขนในรูหู (Cilia) รวมทั้งการขยับของขากรรไกรเวลาเคี้ยวอาหาร พูด หาว จะทำให้ขี้หูค่อยๆ เคลื่อนออกมาทีละน้อย
- เมื่อขี้หูเคลื่อนที่ออกมาด้านนอกจะมีสีเข้มขึ้น เหนียวขึ้น และ มีกลิ่น
ขี้หูมีไว้ทำไม?
ร่างกายเราสร้างขี้หูขึ้นมา เพื่อให้ทำหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ- ช่วยป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดกับหู ความข้นเหนียวของขี้หูจะช่วยดักจับสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในรูหู เช่น ฝุ่น และ แมลง
- ขี้หูมีคุณสมบัติเป็นกรด ซึ่งจะ ช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ ในรูหู ได้
ขี้หูมี 2 แบบ
พันธุกรรม ทำให้ผู้คนในโลกนี้ มีขี้หู 2 แบบใหญ่ๆ คือ- พวกขี้หูแห้ง (dry) เป็นลักษณะด้อย (recessive) ได้แก่ ฝรั่ง (คอร์เคเชียน) และ คนผิวดำในอเมริกา
- พวกขี้หูเปียก (wet) เป็นลักษณะเด่น (dominant) ได้แก่ ชาวเอเซีย และ อินเดียนแดงในอเมริกา (น่าจะสืบเชื้อสายมาจากเอเซีย)
ถ้ามีการผสมข้ามสายพันธุ์กัน คนรุ่นลูกรุ่นหลานมีแนวโน้มจะเป็นพวกขี้หูเปียก มากกว่าขี้หูแห้ง เพราะลักษณะพันธุกรรมขี้หูเปียกเป็นลักษณะเด่น
ขี้หูอุดตัน เป็นอย่างไร?
- เมื่อเราใช้ ไม้พันสำลี แคะหู ขี้หูที่ติดมากับปลายไม้พันสำลีนั้นถือว่าเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่ของขี้หูจะถูกไม้พันสำลีดันลึกเข้าไปในรูหูด้านในมากขึ้น ทำให้ขี้หูแข็งมากขึ้น และเกิดการอุดตันได้
- ไม้พันสำลี มักจะทำให้เซลล์ขนในรูหูซึ่งทำหน้าที่พัดโบกขี้หูออกมาด้านนอกเสียหาย ขี้หูจึงคั่งค้างอยู่ข้างใน และสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- ขี้หูอุดตัน จะทำให้มีอาการมีอาการ หูอื้อ มีเสียงดังในหู หรือ ปวดหูหน่วงๆได้ แพทย์จะพยายามนำขี้หูออกให้ อาจจะทำโดย การล้างช่องหูชั้นนอกด้วยน้ำเกลือ,การคีบ,ดูดขี้หูออก อาจใช้ยาละลายขี้หู เพื่อช่วยให้ขี้หูอ่อนนุ่ม และกำจัดได้ง่ายขึ้น
การลดความเสี่ยงที่จะเกิดขี้้หูอุดตัน
- ไม่ใช้ไม้พันสำลีแคะ หรือปั่นหู หรือ ใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เช่น เวลาน้ำเข้าหู เท่านั้น
ปิดท้าย
- ผมเคยต้องไปให้แพทย์ หู คอ จมูก ท่านดูดเอาขี้หูอุดตันออกให้มาแล้ว ใครที่ไม่เคยอย่านึกว่าจะเพลินเหมือนที่ร้านตัดผมนะครับ ไม่ใช่เลยครับ
- ทุกวันนี้ผมก็ยังใช้ไม้พันสำลี ทำความสะอาดในรูหูอยู่ครับ (เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเอามากๆ อย่าทำแบบผมนะครับ) มันอดไม่ได้ครับ ถ้าไม่ทำจะรู้สึกไม่มั่นใจ กลัวมีขี้หูเกรอะกรังติดอยู่ แต่ก็พยายามใช้ไม้พันสำลีแบบหัวเล็ก แล้วเช็ดขอบนอกๆ ไม่เอาเข้าไปลึก ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น