วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

MRI อะไรหว่า?

เชื่อว่าหลายคนยังไม่เคยลิ้มลองการทำ MRI ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี แสดงว่าท่านแข็งแรงดี ไม่มีเจ็บป่วย แต่ทราบไว้บ้างก็ดีครับ

เอ็ม อาร์ ไอ (MRI)

  • MRI ย่อมาจาก Magnetic Resonance Imaging
  • MRI คือ เครื่องตรวจร่างกาย โดยการสร้างภาพเสมือนจริง โดยใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูง และคลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุ(Radio Frequency) ด้วยการส่งคลื่นความถี่เข้าสู่ร่างกาย และรับคลื่นสะท้อนกลับ นำมาสร้างเป็นภาพด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
  • MRI สามารถสร้างภาพที่แยกความแตกต่าง ระหว่างเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ชัดเจน ทำให้แพทย์สามารถมองจุดที่ผิดปกติในร่างกายได้อย่างละเอียด ทำให้วินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง แม่นยำมากยิ่งขึ้น

เครื่อง MRI ทำงานอย่างไร?


  • เครื่อง MRI ตรวจระบบอวัยวะต่างๆ โดยอาศัยคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กของ ไฮโดรเจนอะตอม และ โมเลกุลของน้ำ ในร่างกาย
  • เมื่อร่างกายอยู่ภายใต้สนามแม่เหล็ก เครื่องจะส่งคลื่นวิทยุเข้าไปกระตุ้นอวัยวะที่จะตรวจ เมื่ออวัยวะนั้นๆ ถูกกระตุ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงระดับพลังงาน ที่เรียกว่า การกำทอน (Resonance) พอหยุดกระตุ้น ไฮโดรเจนอะตอมภายในอวัยวะ ก็จะคายพลังงานออกมา ให้ตัวรับสัญญาณแปลงเป็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์

MRI ดีอย่างไร?

  • เครื่อง MRI จะมีเทคโนโลยีสูง และมีราคาแพง ปัจจุบันมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นการตรวจวินิจฉัยที่ให้ความถูกต้องและแม่นยำสูง 
  • สามารถใช้ตรวจได้ทุกระบบของร่างกาย โดยเฉพาะ สมอง และ กระดูกสันหลัง การตรวจด้วย MRI จะดีกว่าเมื่อเทียบกับการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography, CT) 
  • MRI มีประโยชน์มากในการตรวจผู้ป่วยเด็ก เนื่องจากไม่มีอันตรายจากรังสี ที่เกิดจากการเอกซเรย์
  • ไม่ต้องฉีดสารทึบรังสีเข้าร่างกาย เหมือนการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  • มีความปลอดภัยสูง
  • สามารถกลับบ้านได้ทันทีที่ตรวจเสร็จ

ตัวเครื่องเหมือนอุโมงค์?

  • ในการตรวจด้วยเครื่อง MRI ผู้ป่วยต้องเข้าไปนอนในเครื่อง ที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์ 
  • เครื่อง MRI จะมีความกว้างประมาณ 60 ซม. ผู้ป่วยต้องนอนในอุโมงค์อย่างน้อย 30 นาที ถึงชั่วโมง ขึ้นกับระบบอวัยวะที่ต้องการตรวจ 
  • ในการตรวจบางอย่าง จะต้องมีการเตรียมตัวเฉพาะ และงดกินยาประจำบางชนิด ก่อนเข้ารับการตรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแจ้งในวันที่มานัดตรวจ
  • ในการตรวจ MRI เวลาเครื่องทำงานจะมีเสียงดังเป็นช่วงจังหวะ หลายๆช่วง ช่วงหนึ่งนานประมาณ 3-5 นาที ในขณะที่มีเสียงดัง ให้ท่านนอนนิ่งๆ ไม่ขยับอวัยวะบริเวณที่ตรวจ และ ในช่วงที่เครื่องไม่ทำงานจะไม่มีเสียงดัง ท่านสามารถขยับอวัยวะส่วนที่ไม่ได้ตรวจได้ แต่ต้องไม่ขยับมากจนทำให้เเปลี่ยนตำแหน่งของอวัยวะส่วนที่ตรวจ เมื่อเสียงเครื่องดังต่อ ท่านต้องนิ่งเพื่อตรวจชุดต่อไป 

ข้อควรระวัง

  • ท่านที่มีอาการ "กลัวที่แคบ" ควรแจ้งเจ้าหน้าที่วันนัด เพื่อประเมินการเตรียมตัว เผื่อต้องให้ยาคลายเครียด
  • ท่านที่เป็น "มนุษย์เหล็ก" คือ มีพวกโลหะฝังอยู่ในตัว ก็ต้องแจ้งเขาครับ จะได้ประเมินว่าทำได้หรือไม่ เช่น ท่านที่ฝังเครื่องช่วยฟัง เครื่องกระตุกหัวใจ ขดลวดถ่างหลอดเลือด(Stent) ครับ
  • ความเข้มสนามแม่เหล็กของเครื่อง MRI จะไม่เกินค่าที่องค์กรอาหารและยา(FDA) กำหนดไว้ จึงมีความปลอดภัยสำหรับบุคคลทั่วไป แต่ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในระยะสามเดือนแรก จะทำการตรวจในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น 

หมายเหตุ

  • ทุกเรื่องราวของ vcanfit ท่านสามารถแขร์ได้เลย ไม่มีหวง จะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้คนในวงกว้าง ครับ
  • สงสัยเรื่องอาหาร/สุขภาพ อยากได้คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อิงหลักวิชาการ ลองเข้าGoogle พิมพ์ vcanfit  เว้นวรรค แล้วพิมพ์ คำที่ต้องการหา (เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้) จากนั้นกด ENTER ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น