วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558

กลอย อร่อยเสี่ยง

ผมเป็นค้นบ้ากลอยมาตั้งแต่เด็กแล้ว ชอบที่นึ่งมากับข้าวเหนียวมูล สีเหลืองเป็นแผ่น แม่ไม่ชอบให้กินเลยเพราะรู้ว่ามีความเสี่ยงจากพิษ (ถ้าคนทำทำไม่เป็น) แต่เด็กอย่างผม ตอนนั้นยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุละครับ

กลอย : Wild Yam

  • พบตามธรรมชาติในอินเดีย จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนิวกินี ใช้เป็นอาหารในเอเชียและแอฟริกา
  • เป็นไม้เถา หัวใต้ดินกลมรี มีรากเล็กๆกระจายทั่ว มี 3-5 หัวต่อต้น 
  • ในประเทศไทยมักจะขึ้นตามป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างโปร่ง หัวกลอยจะฝังอยู่ใต้ดินไม่ลึกนัก
  • กลอยแบ่งง่ายๆ เป็น 2 พวก ตามลักษณะของลำต้นและตามสีในเนื้อหัวกลอย เป็น กลอยข้าวเจ้า และ กลอยข้าวเหนียว 
  • กลอยข้าวเจ้าจะมีลักษณะของ เถาและก้านใบสีเขียว ส่วนกลอยข้าวเหนียวมีเถาสีน้ำตาลอมดำ
  • เมื่อนำหัวกลอยมาปลอกเปลือก และหันเป็นแว่นบางๆ จะพบว่า กลอยข้าวเจ้ามีเนื้อหยาบ สีขาวนวล ส่วนกลอยข้าวเหนียว จะมีสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม และมีเนื้อเหนียว
  • กลอยข้าวเหนียวมีรสชาติดีกว่ากลอยข้าวเจ้า เราจึงนิยมกินกลอยข้าวเหนียวกันมากกว่าครับ

สารที่พบในกลอย

  • กลอยมีสารอาหารจำพวกแป้งมาก ใช้กินแทนข้าวได้ครับ เวลาเข้าป่า
  • กลอยมีสารพิษ ไดออสคอรีน(Dioscorine) ถ้านำมากินโดยไม่ทำลายสารพิษก่อน จะทำให้เกิดอาการเบื่อเมา เพราะสารนี้จะไปทำลายระบบประสาทส่วนกลางทำให้เป็นอัมพาต และอาจถึงกับเสียชีวิตได้
  • อาการเมื่อเกิดพิษ ได้แก่ ใจสั่น วิงเวียน คันคอ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ตาพร่า ชีพจรเบา เร็ว อึดอัด ซีด  เป็นลม อาจมีการกระตุกของกล้ามเนื้อ ชัก
  • สารพิษในกลอยจะมีปริมาณมากในช่วงฤดูฝน และมีปริมาณลดลงในช่วงฤดูร้อน

การทำลายพิษก่อนนำมากิน

  • เนื่องจากสารไดออสคอรีนเป็นสารพิษที่สามารถละลายน้ำได้ดี เราจึงสามารถใช้น้ำละลายสารพิษออกมาให้หมด ก็จะกินกลอยได้อย่างปลอดภัย
  • คนสมัยก่อน ทราบว่ากลอยมีพิษ และมีวิธีการล้างพิษออกด้วยการฝานหัวกลอยเป็นชิ้นบางๆ แล้วนำมาแช่น้ำไหล เช่น ในลำธาร ซึ่งต้องใช้เวลาชะล้างสารพิษนานไม่ต่ำกว่า 7 วัน
  • อีกวิธีในการล้างพิษกลอย คือ นำไปแช่ในน้ำเกลือเข้มข้น เกลือจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารไดออสคอรีนในแผ่นกลอยได้เร็วขึ้น แต่ต้องถ่ายน้ำทิ้งหลายๆ ครั้ง และ ใช้เวลาแช่ไม่ต่ำกว่า 3 วัน

ประโยชน์

  • ชาวซาไกใช้น้ำแช่หัวกลอยผสมกับยางน่องใช้เป็นยาพิษอาบหัวลูกธนู
  • ในอินเดียใช้หัวกลอยเป็นยาฆ่าเหา และเบื่อปลา ใช้น้ำแช่หัวกลอยมาฉีดฆ่าแมลงจำพวกหนอน
  • เมื่อล้างพิษออกแล้ว นำมาทำอาหารได้ เช่น ต้มกิน หุงรวมกับข้าว นึ่งปนกับข้าวเหนียวมูล ข้าวเหนียวกลอยหน้าสังขยา หรือโรยงากับน้ำตาล กลอยชุบแป้งทอดแบบกล้วยแขก ฯลฯ

ปิดท้าย

  • ปัจจุบันเรายังไม่มีระบบการตรวจสอบสารไดออสคอรีนในกลอยก่อนออกจำหน่ายแก่ผู้บริโภค ดังนั้นคนกินกลอยอย่างเราก็ต้องระวังตัวเองครับ  โดยเลือกซื้อจากผู้ทำที่ล้างพิษกลอยเป็น และไว้ใจได้ 
  • ไม่ควรกินกลอยในช่วงฤดูฝน และหันมากินในช่วงฤดูร้อนซึ่งจะปลอดภัยกว่า 
  • หากกินแล้วเกิดอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที 
  • ไม่ควรให้เด็กกินกลอยจะดีที่สุด เนื่องจากเด็กมีน้ำหนักตัวน้อย สารพิษกระจายตัวในร่ายกายเร็วกว่าผู้ใหญ่ 

หมายเหตุ

  • ทุกเรื่องราวของ vcanfit ท่านสามารถแขร์ได้เลย ไม่มีหวง จะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้คนในวงกว้าง ครับ
  • สงสัยเรื่องอาหาร/สุขภาพ อยากได้คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อิงหลักวิชาการ ลองเข้าGoogle พิมพ์ vcanfit  เว้นวรรค แล้วพิมพ์ คำที่ต้องการหา (เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้) จากนั้นกด ENTER ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น