เมื่อวานเพื่อนบ้านเอากระท้อนมาฝาก สำหรับผมมันเป็นการย้ำเตือนว่าฤดูฝนจริงจังกำลังจะมาแล้ว เนื่องจากกระท้อนห่อส่วนมากจะมีผลผลิตเยอะในช่วง มิถุนายน - กรกฎาคม ซึ่งฝนมักทิ้งช่วงอยู่พักใหญ่ก่อนตกจริงจังครับ
กระท้อน : Santol
- เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ชื่ออื่นๆ ได้แก่ สะท้อน(ภาคกลาง),มะต้อง(ภาคเหนือ),บักต้อง (ภาคอิสาน),ล่อน เตียน สะตู(ภาคใต้)
- ผลกระท้อนจะมีขนนุ่ม ๆ ปกคลุมอยู่ เนื้อหุ้มเมล็ดจะเป็นปุยนุ่นหนาสีขาว
- กระท้อนแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ กระท้อนเปรี้ยว และ กระท้อนหวาน
- กระท้อนเปรี้ยว หรือ กระท้อนพันธุ์พื้นเมือง เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่ปลูกกันมานานแล้ว ผลจะมีขนาดเล็ก แต่เมล็ดใหญ่ เนื้อบาง เปรี้ยว ไม่นิยมกินสด มักจะนำไปแปรรูป เช่น แช่อิ่ม หรือดอง
- กระท้อนหวาน หรือ กระท้อนห่อ ผลจะใหญ่ เมล็ดเล็ก เนื้อหนาฟู มีรสหวานอมเปรี้ยว เช่นพันธุ์ปุยฝ้าย อีล่า อินทรชิต นิ่มนวล และทับทิม
- ผลนอกจากกินสดแล้ว ยังสามารถนำมาทำอาหารคาว เช่น ผัด แกงคั่ว ตำกระท้อน เมื่ยงกระท้อน หรือนำมาทำอาหารหวาน เช่น กระท้อนทรงเครื่อง กระท้อนลอยแก้ว
- เนื้อผลส่วนที่ห่างเมล็ดมีรสออกฝาดๆ ถือเป็นยาฝาดสมาน แต่ถ้าจะนำมาทำอาหารแล้วไม่ต้องการรสฝาดก็ให้นำไปขยำเกลือก่อนครับ
- เนื้อกระท้อน มีเส้นใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
วิธีเลือกซื้อ
กระท้อนอร่อย ต้องเลือกที่
- ผลใหญ่
- ผลกลมแป้น
- ก้นไม่แตก
- ผิวสีเหลืองนวล หรือ เหลืองส้ม ไม่มีสีเขียวอยู่
- เปลือกนิ่ม มีขนคล้ายกำมะหยี่ทั่วทั้งลูก
- ขั้วไม่เหี่ยว และไม่หลุด
การเก็บรักษา
- ถ้ามีขั้วติดอยู่ จะเก็บในอุณหภูมิห้องได้ 4 - 7 วัน
- ถ้าไม่มีขั้ว จะเก็บที่อุณหภูมิห้องได้ ประมาณ 2 วัน
- ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นจะอยู่ได้นาน 3 - 4 สัปดาห์
ปิดท้าย
- กระท้อนเก็บจากต้นแล้วให้ทิ้งไว้ 1-2 วัน (ให้ลืมต้นก่อน) ค่อยกิน จะหวานขึ้น อันนี้ลองแล้ว ใช่เลยครับ
- ยิ่งทุบ กระท้อนยิ่งหวาน อันนี้ลองแล้วไม่ค่อยชัดเจน ไม่แน่ใจว่าใช้เฉพาะกระท้อนพื้นเมืองที่เปรี้ยวมากๆ หรือเปล่า หรือ ลิ้นผมอาจแยกความแตกต่างได้ไม่ดี ก็เป็นไปได้ครับ
- กินกระท้อนต้องระวังเรื่อง เมล็ดลื่นลงคอ ให้ดี เพราะอาจติดคอ หรือถ้าหลุดจากคอลงไปก็ยังมีส่วนแข็งที่อาจทิ่มหรือบาดทางเดินอาหารเราได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น