บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยมากจะเกิดจากอุบัติเหตุ และความประมาท ซึ่งการบาดเจ็บจะมากน้อยเพียงใดขึ้นกับหลายปัจจัย ครับ
ระดับความลึกของแผลไฟลวก (Burn depth)
ระดับที่หนึ่ง : First-degree burns
- บาดแผลอยู่แค่เพียงผิวหนังชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น ผิวหนังมีลักษณะแดง เจ็บปวด กดเจ็บ ไม่พอง
- โดยปกติจะหายภายในเวลา 3-5 วันโดยไม่เกิดแผลเป็น
ระดับที่สอง : Second-degree burns
- จะมีการบาดเจ็บในบริเวณชั้นหนังแท้ด้วย
- ถ้าไม่มีภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน มักจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความลึกของบาดแผล
- มีโอกาสเกิดแผลเป็นได้ หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง หรือเกิดการติดเชื้อซ้ำเติม
- การใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่จะช่วยให้แผลไม่ติดเชื้อ
ระดับที่สาม : Third-degree burns
- มีการทำลายทั้งส่วนของหนังกำพร้าและหนังแท้ ที่สำคัญคือเส้นเลือดฝอยที่อยู่ในชั้นหนังแท้ถูกทำลายจนหมด
- ลักษณะแผลมีสีขาวมองเห็นเส้นเลือดที่มีก้อนเลือดอุดตัน
- บริเวณบาดแผลจะมีอาการชา
- ส่วนใหญ่ต้องทำการรักษาโดยการผ่าตัดปลูกย้ายผิวหนัง
ระดับที่สี่ : Fourth-degree burns
- แผลลึกไปจนถึงชั้นใต้ผิวหนัง เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อพังผืด กล้ามเนื้อ และกระดูก
- ต้องทำการล้างแผล ตัดแต่ง ซ่อมแซมบาดแผล และแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อในชั้นใต้ผิวหนัง
สิ่งที่ควรทำ เมื่อโดนไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- ล้างด้วยน้ำสะอาด และประคบด้วยน้ำแข็ง ทำนานๆ เท่าที่จะทนได้ เวลาถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก แล้วปวดแสบปวดร้อนนั้น เกิดจากการที่เนื้อเยื่อกำลังถูกทำลาย ความเย็นจะช่วยยับยั้งการทำลายของเนื้อเยื่อ ทำให้ลดความเจ็บปวดลง และทำให้แผลที่เกิดขึ้นตื้นกว่าที่ควรจะเป็น
- ว่านหางจระเข้ ใช้ทาได้ แต่ต้องใช้เฉพาะส่วนที่เป็นเจลใสๆ อย่าให้มียางสีเหลืองติดมานะครับ
- ถ้าบริเวณที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวกเป็นบริเวณกว้าง หรือเป็นแผลระดับที่สาม ให้รีบพาไปพบแพทย์ ระหว่างทางให้ใช้ถุงน้ำแข็งประคบไปด้วย
สิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อโดนไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- ไม่ใช้ ยาสีฟัน น้ำปลา หรือสารแปลกปลอมอื่นๆ ทาแผล เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อบาดแผล และเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ ทำให้รักษาได้ยากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น