วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

อ้อยน้ำผึ้ง

มีคนให้ "อ้อยน้ำผึ้ง" มาลำนึงยาว 4 ศอก แต่ลำใหญ่เกือบเท่าแขนผม ให้เอามาปลูกบอกว่าหวานฉ่ำ ชานไม่เหนียว เคี้ยวง่าย ก่อนปลูกเลยต้องพิสูจน์ดูก่อนครับ

ลองชิมอ้อยน้ำผึ้ง

  • ไม่พูดพล่ามทำเพลง ผมคว้ามีดมาปอกเลยครับ ตัดมายาว 2 คืบ จะได้ปอกง่ายหน่อย (คือ ขี้เกียจปอกนะแหละครับ)
  • ผมปอกแบบเอาผิวเปลือกทิ้งไปเยอะเหมือนกันครับ ปอกติดเปลือกมันแข็ง มีดไม่ค่อยคม 
  • ปอกเปลือกแล้วควั่นเป็นชิ้นๆ แบบที่เขาขายกัน
  • ลองชิมดู เคี้ยวง่าย หวานฉ่ำดีจริงๆ ครับ ขนาดดุ้นเบ้อเร่อเลยนะเนี่ย นึกว่าจะแข็งเคี้ยวยาก

แถมความรู้นิดนึง

อ้อยที่ปลูกขายกันในเมืองไทยเรามี 2 ประเภท ใหญ่ๆ ครับ คือ 

1. อ้อยเคี้ยว (Chewing Cane)

  • เป็นอ้อยที่มีเปลือกนิ่ม ชานนิ่ม  
  • ปลูกเพื่อหีบเอาน้ำอ้อยสำหรับบริโภคโดยตรง หรือใช้สำหรับรับประทานสด 
  • มีความหวานปานกลางถึงค่อนข้างสูง
  • อ้อยเคี้ยวที่นิยมปลูกกันมีหลายพันธุ์ คือ 
    • อ้อยสำลี ลำต้นสีเหลืองอมเขียว ชานนิ่มมาก ให้น้ำอ้อยสีสวย
    • อ้อยพันธุ์มอริเชียส ลำต้นสีม่วงแดง ใช้สำหรับบริโภคโดยตรง นิยมปลูกในจังหวัดราชบุรี และนครปฐม 
    • อ้อยพันธุ์บาดิลา ลำต้นสีม่วงดำ ปล้องสั้นมาก และโตช้า เลยไม่ค่อยนิยมปลูกกัน 
    • อ้อยน้ำผึ้ง ลำต้นสีม่วงแดง รสหวาน ชานนิ่ม
    • อ้อยขาไก่ ลำต้นเล็ก สีเหลือก รสหวาน ชานนิ่ม

2. อ้อยสำหรับทำน้ำตาล (Industrial Cane) 

  • ส่วนใหญ่เป็นอ้อยพันธุ์ลูกผสม
  • มีเกิน 200 พันธุ์ และที่ปลูกกันมากๆ มีราว 20 พันธุ์
  • อ้อย เป็นพืชที่มีประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงสูงมาก จากการศึกษาในฮาวายพบว่าพื้นที่ใบอ้อย 57 ตารางเซนติเมตร สามารถสร้างน้ำตาล 1 ช้อนชาได้ภายในเวลา 36 ชั่วโมง
  • น้ำตาลซูโครสจากใบจะถูกลำเลียงผ่านท่ออาหาร ไปเก็บไว้ที่ลำต้น

ส่งท้าย

  • กินอ้อย(เคี้ยว) หรือน้ำอ้อย ให้พลังงาน เพราะมีน้ำตาลซูโครสเยอะ(น้ำตาลทราย)
  • กินมากๆ ก็น้ำตาลมาก ไม่ดีต่อสุขภาพแน่นอน แถมยังเหนียวคอ คอแห้ง เสมหะเหนียวด้วยครับ

หมายเหตุ

  • ทุกเรื่องราวของ vcanfit ท่านสามารถแขร์ได้เลย ไม่มีหวง จะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้คนในวงกว้าง ครับ
  • สงสัยเรื่องอาหาร/สุขภาพ อยากได้คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อิงหลักวิชาการ ลองเข้าGoogle พิมพ์ vcanfit  เว้นวรรค แล้วพิมพ์ คำที่ต้องการหา (เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้) จากนั้นกด ENTER ครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น