วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ทิ้งหลอดฟลูออเรสเซนต์...ให้ปลอดภัย

ใครตอบได้บ้างครับ ว่า "เวลาจะทิ้งหลอดฟลูออเรสเซนต์ ทิ้งยังไง?" ถาม 10 คน ก็ไม่มีใครฟันธงได้สักคน ตอนนี้ที่บ้านกำลังทะยอยเปลี่ยนเป็นหลอด LED เลยต้องหาวิธีทิ้งหลอดเก่า หาแล้วก็เลยเอามาฝากกันครับ

หลอดฟลูออเรสเซนต์ : Fluorescent lamp

  • มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าหลอดแบบไส้ (Incandescent lamp) ราว 8 เท่า 
  • มีส่วนประกอบหลัก คือ แก้วที่ภายในเคลือบผิวหลอดไว้ด้วยผงฟอสเฟอร์เพื่อการเรืองแสง ส่วนภายในหลอดจะบรรจุสารปรอทเอาไว้ด้วย ซึ่งทำให้ซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว จะกลายเป็นของเสียอันตรายได้ครับ

ทิ้งไม่ดีมีอันตราย

  • เมื่อหลอดแตก ไอปรอทที่บรรจุอยู่ภายในหลอดฟลูออเรสเซนต์ จะระเหยออกสู่สิ่งแวดล้อม และเข้าสู่ร่างกายได้โดยการหายใจ
  • เมื่อทิ้งรวมกับขยะมูลฝอยอื่นๆ  ซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ก็จะถูกบดอัดรวมไปด้วย ทำให้ไอปรอทกระจายสู่สิ่งแวดล้อม เกิดอันตรายต่อพนักงานเก็บขนขยะ และผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง 
  • ถ้าซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ ถูกนำไปฝังกลบ น้ำฝนที่ชะผ่าน ก็จะทำให้สารปรอทไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ  และดูดซึมเข้าสู่สัตว์น้ำและพืชผัก เมื่อเรากินเข้าไป ก็ได้รับสารปรอทด้วย อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ แม้ไม่เกิดผลทันที แต่ก็สะสมได้นะครับ

ทิ้งให้ดีกันครับ

  • ใส่ปลอกกระดาษ ที่เคยใส่มันมาตอนเราไปซื้อหลอด(ถ้ายังเก็บไว้) แล้วค่อยทิ้งใน "ถังขยะพิษ" (หายาก) ก็คงต้องทิ้งในถังขยะธรรมดานี่แหละครับ
  • ถ้าไม่มีปลอกกระดาษ ก็ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หลายๆ ชั้น มัดให้เรียบร้อย แล้วเขียนที่ห่อ ว่า "หลอดไฟใช้แล้ว" 
  • ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ต้องระวัง คือ "ห้ามทำหลอดแตก" นะครับ
  • ทางเจ้าหน้าที่เขาจะนำไปจัดการแบบ "ขยะพิษ" ต่อไป 

ส่งท้าย

  • ช่วงนี้จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคของหลอดฟลูออเรสเซนต์ ไปเป็นหลอด LED ดังนั้นต้องมีการทิ้งหลอดเก่ากันจำนวนมหาศาล ครับ ช่วยๆ กันทิ้งให้ดีๆ นะครับ

หมายเหตุ


  • ทุกเรื่องราวของ vcanfit ท่านสามารถแขร์ได้เลย ไม่มีหวง จะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้คนในวงกว้าง ครับ
  • สงสัยเรื่องอาหาร/สุขภาพ อยากได้คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อิงหลักวิชาการ ลองเข้า Google พิมพ์ vcanfit  เว้นวรรค แล้วพิมพ์ คำที่ต้องการหา (เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้) จากนั้นกด ENTER ครับ

               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น