แต่ก่อน เคยได้ยินว่า กินแปะก๊วย ช่วยบำรุงสมอง กินแล้วฉลาด เจอเม็ดแปะก๊วยเหลืองๆ ในขนมผมฟาดเรียบ ผลปรากฎว่ายังฉลาด(น้อย)เหมือนเดิม ความจริงมาปรากฏทีหล้งว่า ตัวสารออกฤทธิ์มันมีอยู่มากที่ใบ ไม่ใช่ผล ครับ
แปะก๊วย : Ginkgo Biloba
- เป็นพืชที่กำเนิดมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ราว 200 ล้านปีที่แล้ว
- ใบแปะก๊วย มีลักษณะเป็นใบสีเขียวแยกเป็น 2 กลีบ คล้ายใบพัด ที่พิเศษคือจะผลัดใบไม่พร้อมกันทุกต้น
- เมื่อพูดถึง แปะก๊วย คนส่วนมากมักจะนึกถึง เม็ดสีเหลือง ๆ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร และขนม เช่น บ๊ะจ่าง แปะก๊วยนมสด แปะก๊วยต้มน้ำตาล ฯลฯ แต่จริง ๆ แล้วประโยชน์ทางยาจะอยู่ที่ ใบแปะก๊วย มากกว่าครับ
ประโยชน์
- แปะก๊วย ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ครั้งแรกในประเทศจีน เมื่อประมาณเกือบ 600 ปีที่แล้ว ในสมัยราชวงศ์หมิง
- ปัจจุบัน ใบแปะก๊วย เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ทั้งในเอเชีย ยุโรป และ อเมริกา เพราะเชื่อกันว่าเป็นยาอายุวัฒนะ
- ใบแปะก๊วย มีสารประกอบทางเคมีมากมาย แต่ที่สำคัญคือ กิงโกไลด์ (ginkgolide) และ บิโลบาไลด์ (Bilobalide) และ พวกฟลาโวนอยด์ (Flavonoids)
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญ
- ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง และชะลอความแก่
- ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดทำให้การไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ และหลอดเลือดฝอยดีขึ้น
- เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง ทำให้ความสามารถในการทำงานของสมองดีขึ้น
- ยับยั้งการเสื่อมของสมอง
จะกินต้องเลือกให้ดี
- แปะก๊วย มีประโยชน์มากมาย แต่ก็มีความเป็นพิษอยู่ด้วย โดยมีสาร กิโกลิก-แอซิด (Ginkgolic acid) ซึ่งถ้ามีมากเกินกว่า 5 ส่วนในล้านส่วน จะมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย ทำให้ชีพจรเต้นเร็ว ปวดหัว มึนงง ท้องอืดเฟ้อ มีผื่นคัน และอาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ด้วย
- ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน จะทำการขจัดสารพิษนี้ออกก่อน ตามขั้นตอนมาตรฐานการผลิตที่ดี (GMP) โดยควบคุมให้มีได้ไม่เกิน 5 ส่วนในล้านส่วน
- ใบแปะก๊วยชนิดชาชง หรือใบแห้งอัดแคปซูล จะไม่สามารถควบคุมสารพิษดังกล่าวได้ อาจทำให้มีความเสี่ยงในการกินครับ
ห้ามใช้กับคน 3 กลุ่ม
- ผู้ที่ใช้ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด เช่น วาร์ฟาริน(Warfarin),แอสไพริน(Aspirin) และ ผู้ที่มีปัญหาการแข็งตัวของเลือด
- ผู้ป่วยที่ความดันโลหิตสูง หรือต่ำกว่าปกติ หรือใช้ยาความดันอยู่ เพราะใบแปะก๊วยจะทำให้หลอดเลือดขยาย ความดันอาจลดต่ำลงมากเกินไปได้
- สตรีมีครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น