อาการท้องผูก เป็นเรื่องใหญ่ที่น่ารำคาญใจสำหรับหลายคน มีปัจจัยเกี่ยวข้องทั้งแบบที่เราควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ มาดูวิธีบริหารจัดการอาการท้องผูกด้วยตัวเองกันครับ
ท้องผูก คือ ?
- ท้องผูก คือ อาการไม่ใช่โรค
- ท้องผูก หมายถึง การที่ลำไส้ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้ง่ายและสม่ำเสมอ โดยมีความถี่ของขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่าทุกๆสามวัน หรือ วันเว้นสองวัน ร่วมกับการที่ก้อนอุจจาระมีลักษณะแข็งและยากต่อการขับถ่ายออกมา
- ภาวะท้องผูกนั้นอาจเกิดขึ้นได้กับทุกๆคน ในเวลาช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตสำหรับท่านที่กำลังคิดว่า เสียเวลา จะสาธยายมาทำไม เป็นอยู่ทุกวัน รู้อยู่แล้ว ก็ข้ามไปเลยครับ (แต่ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ก็คงข้ามไม่ทันซะแล้วละครับ)
สาเหตุ
- กินอาหารที่มี เส้นใยอาหาร น้อย คือ ไม่ค่อยกินผัก ผลไม้
- ดื่มน้ำน้อยในแต่ละวัน
- ขาดการออกกำลังกาย
- มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตหรือกิจวัตรประจำวัน เช่น ต้องเดินทางเยอะ ทำงานไม่เป็นเวลา
- สภาวะของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ เช่น แก่ชรา ตั้งครรภ์
- สภาวะของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น ลำไส้แปรปรวน ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่มีปัญหา โรคหลอดเลือดสมอง(พบบ่อยนะครับ)
- การใช้ยาบางชนิด ที่มีผลข้างเคียงทำให้ท้องผูก เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยาแก้ปวดบางชนิด ยากันชัก ยาต้านอาการซึมเศร้า ยารักษาโรคพาร์กินสัน อันนี้ถ้าสงสัยก็ปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร ดูนะครับ
การแก้ไข
- ควรไปขับถ่ายอุจจาระเมื่อคุณรู้สึกปวดท้องถ่ายครั้งแรกโดยไม่รั้งรอ เพราะสัญญาณอยากขับถ่ายครั้งแรกจะแรง ต่อๆไปจะแผ่วลงครับ
- เวลานั่งถ่ายถ้ายังถ่ายไม่ออกก็อย่านั่งแช่นานเกิน 10 นาที ให้ลุกออกมาก่อน รอจนลำไส้พร้อมสำหรับการถ่ายจริงๆ ค่อยมาลองใหม่
- กินอาหารที่มีปริมาณเส้นใยอาหารให้เพียงพอ (20-35 กรัมต่อวัน) ซึ่งจะช่วยให้อุจจาระมีขนาดใหญ่และนุ่ม ขับถ่ายได้ง่าย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ใช้ยาระบาย ควรใช้เป็นครั้งคราว ไม่ควรใช้ต่อเนื่อง เพราะร่างกายจะชินกับการใช้ยาจนถ่ายเองไม่ได้
เมื่อใดจึงควรไปพบแพทย์
ควรไปพบแพทย์เมื่อปัญหาท้องผูกของท่านเข้าเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- มีการเปลี่ยนแบบของการขับถ่ายจากเดิมไป เช่น ไม่เคยท้องผูกมาก่อนเลย จู่ๆ ก็ท้องผูกมาก และเป็นนาน
- เป็นเรื้อรังนานกว่าสามสัปดาห์
- มีอาการรุนแรง
- มีอาการร่วมอื่นๆ เช่น มีเลือดออก น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น