โจ๊กหมู เป็นอาหารเช้าคู่คนไทยมานาน หากินได้ทั่วไป เรามาลองดูกันนะครับว่า โจ๊กหมู 1 ชาม ให้ประโยชน์อะไรกับร่างกายเราบ้าง และมีข้อควรระวังอย่างไร
โจ๊กมาจากไหน?
- เป็นหนึ่งในตำรับอาหารจีนที่สืบทอดกันมานานนับพันปี
- ภาษาจีนกลาง เรียกโจ๊กว่า Zhou หรือ Xi Fan ขณะที่ชาวจีนกวางตุ้งเรียกว่า Jook
- บันทึกเก่าแก่ในราชสำนักจีนระบุว่า โจ๊กคืออาหารบำรุงสุขภาพอันยอดเยี่ยม จัดเป็นตำรับเพื่อเยียวยาพละกำลังโดยเฉพาะ
- อินโดนีเซียเรียกโจ๊กว่า Bubur
- ญี่ปุ่นเรียกว่า Okayu เนื้อโจ๊กของญี่ปุ่นจะข้นกว่าโจ๊กชาติอื่นๆ โดยมีสัดส่วนน้ำและข้าว คือ 5:1 (โจ๊กของจีนอยู่ที่ 12:1)
ประโยชน์ที่ได้รับจากโจ๊กหมู(ใส่ไข่) 1 ชาม
- ได้ พลังงาน ประมาณ 400 กิโลแคลอรี่ (แล้วแต่ปริมาณในชาม และเครื่องประกอบ)
- ได้ โปรตีน จากเนื้อหมู เครื่องใน และไข่ จะช่วยบำรุงร่างกาย และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อีกทั้งยังทำให้อิ่มได้นานขึ้นด้วย เนื่องจากโปรตีนย่อยช้า
- ตัว ปลายข้าว ในโจ๊ก เป็นสารคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงาน เหมาะเป็นอาหารมื้อเช้า มื้อสำคัญที่ร่างกายต้องการพลังงานไปเลี้ยงสมอง และส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- ถ้าได้โจ๊กเกรดพรีเมี่ยมหน่อย ที่ทำจาก ปลายข้าวกล้อง(และมีจมูกข้าว) จะทำให้เราได้วิตามินB วิตามินE และ แกมมาออริซานอล (Gamma-Orizanal) ซึ่งเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ต้านอนุมูลอิสระ
- ถ้าได้โจ๊กที่ทำจาก ข้าวกล้องงอก จะยิ่งดีขึ้นไปอีก เพราะเราจะได้ กาบา (Gaba : Gamma aminobutyric acid) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมองที่มีผลการวิจัยว่าสามารถช่วยลดความตึงเครียด ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และชะลอความเสื่อมของสมองได้ครับ
- ขิงซอย ช่วยขับลม กระตุ้นการเผาผลาญ และยังได้ประโยชน์จาก ต้นหอม ที่มีวิตามินและแร่ธาตุอยู่บ้าง แถมยังช่วยลดไขมันได้อีกเล็กน้อยครับ
ข้อควรระวัง
- อย่ากิน โจ๊ก คู่กับ ปาท่องโก๋ เพราะนั่นคือการนำ แป้งมาจิ้มแป้ง จะอ้วนกันไปใหญ่ครับ
- คนที่เป็นโรคเก๊าท์ ไม่ควรใส่เครื่องในหมู เพราะเครื่องในเป็นแหล่งของกรดยูริค ที่ทำให้โรคเก๊าท์กำเริบ (ตัวโจ๊กทำจากน้ำต้มกระดูก ซึ่งมีกรดยูริคมากอยู่แล้ว)
- หมู และเครื่องใน เป็นแหล่งชอง คอเลสเตอรอล (Cholesterol) จึงควรกินแต่พอดี ไม่ใส่มากเกินไป
- อย่าปรุงมาก โดยเฉพาะ หวานและเค็ม แอบมองบางคนปรุงแล้วตกใจมากๆครับ ทั้งน้ำตาลทราย น้ำปลา ซีอิ๋ว สาดลงไปในชามโจ๊ก ไม่รู้ไตต้องเหนื่อยขนาดไหนกว่าจะขจัดเกลือส่วนเกินออกมาหมด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น