"ศรี" ตามตำนานตั้งแต่โบราณมา เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งตนเองและผู้อื่น ได้ครับ
ศรีอยู่ที่ไหน?
- ตามตำนานสงกรานต์ ว่าไว้ดังนี้ มีกุมารน้อย ลูกเศรษฐี ชื่อ "ธรรมบาล" ได้ร่ำเรียนวิชาต่างๆ จนเติบโตมาเป็นอาจารย์ จนกระทั่งวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมาร
- ปัญหาที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารก็คือ "ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน"
- เมื่อได้ฟังคำถามแล้ว ธรรมบาลกุมารไม่สามารถตอบได้ จึงขอผัดผ่อนท้าวกบิลพรหมไปอีก 7 วัน
- ระหว่างนั้น ธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดหาคำตอบ คิดยังไงก็คิดไม่ออก
- จนล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมาร ได้เข้าไปในสวน โดยคิดว่าหากไม่สามารถตอบปัญหานี้ได้ ก็ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยดาบของท้าวกบิลพรหม
- ระหว่างนอนคิดอยู่ ปรากฎว่าบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ ธรรมบาลกุมารซึ่งรู้ภาษานกก็ได้ยินนก 2 ตัวผัวเมียคุยกัน
- นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้จะไปหาอาหารแห่งใด สามีก็ตอบว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมฆ่า เพราะตอบปัญหาไม่ได้
- นางนกถามว่าคำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้าศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า ตอนเที่ยงศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็นศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน
- เมื่อได้ยินดังนั้น ธรรมบาลกุมารก็ได้จดจำสิ่งที่สามีนกพูดไว้ กระทั่งวันรุ่งขึ้น ธรรมบาลกุมารได้นำคำตอบดังกล่าวไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ปรากฎว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง
- ท้าวกบิลพรหมเป็นฝ่ายแพ้ จึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ด มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่าจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมารตามที่ลั่นวาจาไว้
- เรื่องยังไม่จบง่ายๆ เพราะติดปัญหา คือ พระเศียรของพระองค์หากตกไปอยู่ที่ใดก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั้น อย่างเช่น หากตั้งเศียรไว้บนแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก แต่ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง หรือถ้าจะทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง
- ด้วยเหตุนี้ ท้าวกบิลพรหมจึงมอบหมายให้ธิดาทั้งเจ็ด ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ ผลัดเวรกันนำพานมารองรับเศียร ปีละคน
ตีความ
ศรี แปลว่า ความรุ่งเรือง ความสว่างสุกใส ความงามความเจริญ
ตอนเช้าศรีจะอยู่ที่หน้า
- คนเราทุกคนตื่นมาต้องล้างหน้าล้างตา ชำระความสกปรกที่หน้าของตน เพื่อให้เกิดความสดชื่น เบิกบาน
- ยามเช้าต้องรักษาหน้าของตนเองไว้ให้ดีเพื่อความเป็นมงคลชีวิตของตน
- หากหน้าท่านไม่ดีตั้งแต่เช้าแล้วละก็ ตลอดทั้งวันคงยากที่จะพบพานกับความสุข และความสำเร็จ
ตอนเที่ยงศรีจะอยู่ที่อก
- ตามตำนานบอกว่า เราควรนำน้ำหอมมาพรมที่อกเพื่อให้เกิดความเย็น
หอมสดชื่นในเวลากลางวัน
- คนโบราณบางคนจะเอาน้ำลูบอก ลูบพุง แล้วประแป้ง ตอนกลางวัน
- ที่จริงแล้ว คติธรรมที่แฝงอยู่ คือ เรื่องการทำจิตใจให้เยือกเย็น พยายามทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน คิดถึงอกเขาอกเรา ถ้าทุกคนทำได้ เราก็จะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ สงบร่มเย็น
ตอนเย็นศรีจะอยู่ที่เท้า
- เท้าคือส่วนที่รองรับทุกส่วนของร่างกาย เท้าจะต้องย่ำเยียบสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่สะอาดและสกปรก จึงต้องล้างให้สะอาดเป็นอย่างดี ก่อนเข้านอน
- นอกจากนั้น เท้ายังต้องแบกรับน้ำหนัก มาทั้งวัน จึงคารได้รับการดูแลอย่างดีเมื่อสิ้นวัน
- คติธรรมที่แฝงอยู่ คือ สิ่งสกปรก รกใจ ที่ติดมาด้วยทั้งวันนั้น ควรได้รับการชำระออกไปจากใจให้หมดก่อนเข้านอน เพื่อให้นอนหลับด้วยจิตใจที่ใสสะอาด ปราศจาก ราคะ โทสะ และโมหะ เพื่อให้ตื่นขึ้นรับวันใหม่ด้วยความแจ่มใส สดชื่น เบิกบาน
ปิดท้าย
คนเรา จิตใจ สำคัญมากนะครับ ที่เขาว่า " จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว " นั่นแหละครับ ถ้าจิตใจขุ่นมัว หม่นหมอง หน้าตา ผิวพรรณ ก็ไม่ผ่องใส ต่อให้เอาน้ำล้างทั้งตัว จนตัวเปื่อย ยังไงราศรีก็ไม่จับแน่นอนครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น