เคยเข้าใกล้ใครแล้วได้กลิ่นเหม็นเวลาเขาพูดด้วยไหมครับ จำความรู้สึกนั้นไว้นะครับ กลับกันลองนึกถึงคนที่กำลังคุยกับเราอยู่ แล้วได้กลิ่นเหม็นจากเรา เขาคงกระอักกระอ่วน เพราะเรื่องแบบนี้ ต้องสนิทกันประดุจญาติ ถึงจะบอกจะเตือนกันได้
สาเหตุ
1. กลิ่นจากช่องปาก (Oral Cavity)
- เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดถึง 80 - 90% ของคนที่ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
- เกิดจากการสะสมของแบคทีเรียบริเวณช่องระหว่างฟัน และด้านหลังของโคนลิ้น
- เชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากส่วนใหญ่ ได้แก่ กลุ่มแบคทีเรีย ซึ่งภาวะความเป็นกรด-ด่าง ในปาก การปากแห้ง รวมทั้งการหมักหมมของเศษอาหาร จะมีผลต่อจำนวนแบคทีเรีย และกลิ่นเหม็น
- คนที่มีปัญหาปากแห้ง (xerostomia) จะมีกลิ่นปากขณะที่ปากแห้ง ซึ่งเกิดจากภาวะเป็นกรดที่ส่งผลต่อเชื้อโรคที่อาศัยในช่องปาก
- ภาวะเหงือกอักเสบ ก็สามารถทำให้เกิดกลิ่นปากได้
2. โพรงจมูก (Nasal passages)
- เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสอง คือ 8 - 10 % ของคนที่ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
- กลิ่นจากโพรงจมูก มีลักษณะพิเศษ คือ มีกลิ่นคล้ายเนย (slightly cheesy)
- กลิ่นจากโพรงจมูก มักบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อในโพรงจมูก เช่น ไซนัสอักเสบ
- การมีภาวะอุดกั้นของโพรงจมูก ก็ทำให้เกิดกลิ่นได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่หยิบสิ่งแปลกปลอมใส่เข้าไปในรูจมูก
3. ต่อมทอนซิล (Tonsils)
- พบเป็นสาเหตุได้น้อย ประมาณ 3% เท่านั้น
- ไม่ควรรักษาโดยการผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออก เพียงแค่ปัญหาเรื่องกลิ่นปากเท่านั้น
4. กลิ่นจากสาเหตุอื่นๆ (Others) เช่น
- การติดเชื้อที่หลอดลมและปอด ไตวาย ตับวาย และโรคมะเร็งต่าง ๆ แต่พบได้น้อยครับ
- คนที่เป็นโรคเบาหวาน ที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี จะมีกลิ่นลมหายใจเหม็นจากสารคีโตน
- ภาวะที่ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตต่ำ เช่นการลดความอ้วนโดยการไม่กินแป้งเลย อาจทำให้ลมหายใจมีกลิ่นได้
ข้อสังเกตุ
- ภาวะลมหายใจมีกลิ่นเหม็นนี้แทบจะไม่พบว่ามาจาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรือ ลำไส้เลย เนื่องจากหลอดอาหารในภาวะปกติจะแฟบ อาจจะมีกลิ่นได้บ้างในขณะที่เรอแต่จะไม่มีกลิ่นเป็นเวลานานๆ ครับ
- ขณะนอนหลับ กลิ่นลมหายใจจะเหม็นที่สุด เนื่องจากไม่ค่อยมีการหลั่งน้ำลาย แบคทีเรียจะทำงานได้ดีที่สุด
- บางคนพยายามที่จะดับกลิ่นปากของตนเอง โดยการสูบบุหรี่ซึ่งกลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น เนื่องจากกลิ่นเหม็นของบุหรี่ ซึ่งยังคงออกมาจากลมหายใจแม้ว่าจะหยุดไปแล้วมากกว่าหนึ่งวันก็ตาม
การแก้ไข
1. ในคนที่ทราบสาเหตุ ควรจะรักษาตามสาเหตุ
2. คนที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน สามารถบรรเทาได้โดยวิธีต่างๆ ดังนี้
- แปรงฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหาร และอย่าลืมแปรงด้านบนของลิ้นด้วย ถ้าไม่สะดวกในการแปรงฟัน ให้บ้วนปากด้วยน้ำเปล่า หรือน้ำยาบ้วนปาก
- ใช้ไหมขัดฟันวันละ 2-3 ครั้ง
- อย่าปล่อยให้ปากแห้งเพราะเมื่อปากแห้งความเข้มข้นของแบคทีเรียในปากจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ง่าย
- ตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- เคี้ยวหมากฝรั่ง(ชนิดไม่มีน้ำตาล)
- กินอาหารให้ครบหมู่ โดยเฉพาะกลุ่มแป้ง (ถ้ากำลังลดความอ้วนก็กินน้อยหน่อย)
- งดอาหารกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หอมแดง หอมใหญ่ และ ชีส เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ
- ไม่สูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น