วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นอนลดความอ้วน


       หลายคนคงเคยได้ยิน หรือ ผ่านตากันมาบ้างแล้วในเรื่องนอนน้อยอ้วนมาก นอนให้เพียงพอจะไม่อ้วน อะไรทำนองนี้ เรามาดูกันเลยครับ ว่าจริงเท็จประการใด

  • นอนเท่าใดถึงเรียกนอนน้อย?
        คำว่านอนให้เพียงพอที่ใช้กันทั่วไป คือ นอนหลับ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำทางสุขภาพ แต่ถ้ามีความจำเป็นจริงๆ เช่นบ้านไกลจากที่ทำงาน ต้องตื่นเช้ามาก อันนี้ผมว่านอนหลับได้คืนละ 6-7 ชั่วโมง นับว่าหรูแล้วครับ

   ถ้าเรานอนน้อย สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ความจำแย่ลง ภูมิค้านทานของร่างกายลดลง และที่สำคัญ คือ อ้วนขึ้น เนื่องจาก การนอนของเรามีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนต่างๆ ดังนี้

1. ฮอร์โมนเกรลิน(Ghrelin)

  1. เป็นฮอร์โมนกระตุ้นความหิว พบในบริเวณกระเพาะอาหาร และในสมองส่วนไฮโปธารามัส ฮอร์โมนนี้จะไปเพิ่มความหิว ทำให้กินอาหารมากขึ้น
  2. คนที่นอนน้อยจะมีระดับของฮอร์โมนเกรลินสูงกว่าคนที่นอนเพียงพอ
  3. พอหิวมาก ก็กินมาก ทำให้อ้วน มีไขมันสะสมมากขึ้น
2. ฮอร์โมนเล็ปติน (Leptin)

  1. เป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกอิ่ม
  2. คนที่นอนน้อยจะมีระดับของฮอร์โมนเล็ปติน ต่ำลง

           สำหรับ เกรลิน กับ เล็ปติน มีการทดลองของ Shahrad Taheri และคณะ โดยใช้อาสาสมัคร 1,024 คน เอามานอนค้างคืน แล้วเฝ้าติดตามการนอนหลับ ผลที่ได้คือ มีความสัมพันธ์แบบผกผันระหว่างการนอนน้อยกว่า 7.7 ชั่วโมง/คืน กับ การเพิ่มขึ้นของค่าดัชนีมวลรวมของร่างกาย (BMI) และพบว่า คนนอนน้อยจะมีระดับเกรลินเพิ่มขึ้น ส่วนเล็ปตินลดต่ำลง นั่นคือจะทำให้หิวมากขึ้นนั่นเอง

3. ฮอร์โมนคอร์ติซอล(Cortisol)
  1. เวลาที่เราอดนอน หรือนอนน้อย ร่างกายจะเกิดความเครียด และจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ออกมา
  2. ฮอร์โมนคอร์ติซอลเป็นตัวที่คอยสั่งการให้ร่างกายเตรียมพลังงานให้พร้อมสำหรับการรับมือกับภาวะตึงเครียดที่เกิดขึ้น โดยลดการเผาผลาญพลังงานในร่างกายลง ผลก็คือ ความอ้วน
            สรุปว่า 
  • การนอนน้อยทำให้อ้วนขึ้นได้ ส่วนการนอนให้เพียงพอจะช่วยให้ไม่อ้วน เพราะร่างกายเผาผลาญพลังงานตามปกติ และไม่หิวเกินไปจากฤทธิ์ของฮอร์โมนเกรลินเพิ่ม หรือ เล็ปตินลด 
  • แต่ผมคิดว่ามันเป็นส่วนประกอบเล็กๆ เท่านั้น ในการลดความอ้วน ไม่งั้นคงมีคอร์สลดความอ้วนโดยการให้นอนหลับ 5 วัน 10 วันกันแล้วละครับ 
  • ผมว่านอนให้เพียงพอ คุมอาหาร คุมอารมณ์ และออกกำลังกายบ้าง ลดความอ้วนได้แน่นอนครับ
อ้างอิง 
Short Sleep Duration IsAssociated with Reduced Leptin, Elevated Ghrelin, and Increased Body Mass Index;Shahrad Taheri et al ;  Published: December 07, 2004 DOI: 10.1371/journal.pmed.001006

หมายเหตุ 


  • ทุกเรื่องราวของ vcanfit ท่านสามารถแขร์ได้เลย ไม่มีหวง จะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้คนในวงกว้าง ครับ
  • สงสัยเรื่องอาหาร/สุขภาพ อยากได้คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อิงหลักวิชาการ ลองเข้า Google พิมพ์ vcanfit  เว้นวรรค แล้วพิมพ์ คำที่ต้องการหา (เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้) จากนั้นกด ENTER ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น