วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ซูคราโลส (Sucralose) ปลอดภัยไหม?



ซูคราโลส (Sucralose)
  • ซูคราโลส (Sucralose) เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Sugar Substitute) ซึ่งมีความหวานสูงถึง 600 เท่าของน้ำตาลทราย แต่ร่างกายเราไม่สามารถย่อยสลายเอาไปใช้ได้ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือ คนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
  • ซูคราโลสมีข้อดีคือ รสชาติคล้ายน้ำตาลธรรมชาติมาก ไม่มีรสขม และ ทนความร้อนในกระบวนการทำอาหารได้ดี
  • โครงสร้างทางเคมีของซูคราโลสจะคล้ายกับน้ำตาล แต่ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด หรือระดับอินซูลิน และไม่ทำให้ฟันผุด้วย 
  • เนื่องจากซูคราโลสมีความหวานสูง จึงใช้ในปริมาณน้อยมาก(ใช้ไม่กี่เกล็ดก็หวานเท่ากับน้ำตาลทรายเป็นช้อนแล้วครับ) เลยจำเป็นต้องหาสารอื่นมาผสมเพื่อเพิ่มปริมาณในการบรรจุซองขาย ส่วนมากจะใช้สารกลุ่ม โพลีออล (Polyols) มาผสมเพื่อเพิ่มปริมาณ ซึ่งก็เป็นสารที่ปลอดภัยในการบริโภค
  • มีผลการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยของซูคราโลส 110 ชิ้น รวมทั้งมีการศึกษาเกี่ยวกับผลของซูคราโลสต่อสิ่งแวดล้อมอีกกว่า 40 ชิ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าซูคราโลสไม่ก่อให้เกิดผลเสียผลต่อสิ่งแวดล้อม 
  • การศึกษาด้านความปลอดภัยของซูคราโลส มีทั้งแบบระยะสั้น และ ระยะยาว รวมไปถึงการก่อกลายพันธุ์ ผลต่อการสืบพันธุ์ ผลต่อตัวอ่อนของสัตว์ การก่อให้เกิดมะเร็ง ฯลฯ ซึ่งผลการศึกษาทดลองไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด
  • องค์การอนามัยโลก(WHO)และ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้รับรองความปลอดภัยของซูคราโลส ในปี พ.ศ.2533 ทำให้ประเทศต่างๆมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก เช่น อเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น และประทศต่างๆในยุโรป ได้ให้การยอมรับการใช้ซูคราโลสในอาหาร 
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ของไทย และ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) ได้อนุญาตให้ใช้ซูคราโลสเติมลงในอาหาร 14 ชนิด ได้แก่
    1. ขนมอบและแป้งผสมสำหรับทำขนมอบ (baked goods and baking mixes)
    2. เครื่องดื่ม (beverage and beverage bases)
    3. หมากฝรั่ง (chewing gum)
    4. ชา,กาแฟ (coffee and tea)
    5. ผลิตภัณฑ์นม (Dairy product analogues)
    6. อาหารหวานแช่เยือกแข็ง (frozen dairy desserts and mixes)
    7. น้ำสลัด (salads dressings)
    8. ผลไม้หวานเย็น (fruit and water ices)
    9. เจลาติน,พุดดิ้ง (gelatins and pudding)
    10. แยม,เยลลี่ (jams and jellies)
    11. ผลิตภัณฑ์นม (milk products)
    12. ผลไม้กระป๋อง,น้ำผลไม้ (processed fruits and fruit juices)
    13. สารแทนน้ำตาล (sugar substitute)
    14. น้ำเชื่อม (sweet sauces,toppings,syrups)

  • ปริมาณของซูคราโลส ที่คนเราสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย(ADI) = 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว กิโลกรัม/วัน 
  • มีข้อสังเกตุจากนักวิชาการว่า การศืกษาวิจัยความปลอดภัยของซูคราโลสที่ว่ามี 110 ชิ้น นั้น เป็นการศึกษาในมนุษย์ จำนวน 2 ชิ้น เท่านั้น ที่เหลือเป็นการทำในสัตว์ทดลอง ซึ่งถือว่ายังไม่ครอบคลุมในทุกประเด็นของความปลอดภัย รวมทั้งผลต่อร่างกายเมื่อใช้ซูตราโลสในระยะยาวด้วย
  • ซูคราโลสจัดเป็นเป็นสารให้ความควานที่ค่อนข้างใหม่(เมื่อเทียบกับสารให้ความหวานตัวอื่น) จึงยังมีการศึกษาวิจัยที่ไม่มากนัก และยังต้องติดตามผลของการใช้ซูคราโลสในระยะยาวต่อไป 
       สำหรับตัวผมเอง การที่ USFDA รับรองความปลอดภัย ก็ถือว่าสบายใจได้ระดับนึงแล้วครับ แม้วันข้างหน้าอาจจะค้นพบว่า ซูคราโลส ส่งผลเสียต่อร่างกายบ้าง ก็คงจะไม่รุนแรงนัก ทุกวันนี้ก็อาศัยเติมกาแฟกินครับ วันนึงกินกาแฟ 2 แก้ว เช้า กาแฟ+น้ำผึ้ง กับตอนบ่าย กาแฟ+ซูคราโลส ครับ
เอกสารอ้างอิง
  1. American Dietetic Association. Position of the American Dietetic Association: use of nutritive and nonnutritive sweeteners. J Am Diet Association 2004 ; 104 : 225-275
  2. Position of the Academy of Nutrition and Dietetics: Use of Nutritive and Nonnutritive
    Sweeteners.J Acad Diet 2012; 112 : 739-758

หมายเหตุ 


  • ทุกเรื่องราวของ vcanfit ท่านสามารถแขร์ได้เลย ไม่มีหวง จะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้คนในวงกว้าง ครับ
  • สงสัยเรื่องอาหาร/สุขภาพ อยากได้คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อิงหลักวิชาการ ลองเข้า Google พิมพ์ vcanfit  เว้นวรรค แล้วพิมพ์ คำที่ต้องการหา (เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้) จากนั้นกด ENTER ครับ

1 ความคิดเห็น: