วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557

มาเลือกกิน โพรไบโอติคส์ (Probiotics) กัน

    หลายท่านคงรู้สึกเหมือนผมแน่นอน เวลาได้ยินโฆษณา หรือคนพูดกันเรื่อง โพรไบโอติคส์ ว่ามันดีอย่างนั้นอย่างนี้ จะกินเองบ้างดีไหม แล้วเลือกซื้อยังไง กินยังไง แค่ไหน ฯลฯ สารพัดคำถามในใจ เรามาคลายข้อสงสัยพร้อมกันไปเลยครับ

โพรไบโอติคส์ คืออะไร ?

  • โพรไบโอติคส์ (Probiotics) เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์
  • เมื่อเรากินเข้าไป จุลินทรีย์เหล่านี้จะไปตั้งรกรากอยู่ในลำไส้ใหญ่  ช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ดั้งเดิม ทำให้จุลินทรีย์ที่ดีมีจำนวนมากขึ้น และ จุลินทรีย์ที่ไม่ดีมีจำนวนลดลง ทำให้สุขภาพของลำไส้ดีขึ้น
  • นอกจากนี้ยังให้ประโยชน์อื่นๆ เช่น เพิ่มภูมิคุ้มกัน  เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์นั้นๆ  
  • โดยรวม คือ โพรไบโอติคส์จะช่วยให้สุขภาพของคุณดีขึ้น
 หมายเหตุ จุลินทรีย์ที่ไม่ดีในทางเดินอาหารเรา คือพวกที่ทำให้ท้องอืด ท้องเสีย  สร้างสารที่มีกลิ่นเหม็น สร้างสารก่อมะเร็ง ฯลฯ

การเลือกซื้อโพรไบโอติคส์


1. ดูความเย็นของตู้แช่ ถ้าไม่ค่อยเย็น หรือเย็นชืดๆ เหล่าโพรไบโอติคส์ จะลดจำนวนที่รอดชีวิตลง ประโยชน์ที่เราจะได้รับก็ลดลง อันนี้รวมถึงดูความเย็นของพวกตู้แช่รถซาเล้ง หรือท้ายจักรยานยนต์ ที่มาส่งถึงบ้านท่านด้วยนะครับ

2. ดูชื่อจุลินทรีย์ อันนี้ชื่อยาวจำยาก แต่สำคัญครับ เพราะมีจุลินทรีย์อยู่ 2 ประเภท ในผลิตภัณฑ์พวกนี้ คือ
 2.1 จุลินทรีย์ที่ใช้ทำโยเกิร์ตธรรมดา ไม่จัดเป็นโพรไบโอติคส์ ได้แก่
  • สเตร็ปโตค็อคคัส เทอร์โมฟิลัส (Streptococcus thermophilus)
  • แล็คโตบาซิลลัส บัลการิคัส (Lactobacillus bulgaricus)
  • แล็คโตบาซิลลัส เดลบรูคคิไอ ชับสปีชี่ส์ บัลการิคัส (Lactobacillus delbrueckii subsp. bulgaricus)  
 2.2 จุลินทรีย์ที่ เป็นโพรไบโอติคส์ ได้แก่
  • ไบฟิโดแบคทีเรียม  แอนิมาลิส (Bifidobacterium animalis)  
  • ไบฟิโดแบคทีเรียม  ไบฟิดุม (Bifidobacterium bifidum) 
  • แล็คโตบาซิลลัส  เอซิโดฟิลลัส (Lactobacillus acidophilus 
  • แล็คโตบาซิลลัส  เคซิไอ (Lactobacillus casei
   ** ให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีจุลินทรีย์ที่เป็นโพรไบโอติคส์ ในข้อ 2.2 อยู่ด้วยนะครับ

3. เลือกให้เหมาะกับตัวเรา อันนี้ขอแบ่งพวกเราเป็น 3 กลุ่มนะครับ

    กลุุ่มคนท้องผูกประจำ 
     ให้ เลือก ผลิตภัณฑ์ที่มี ไบฟิโดแบคทีเรียม แอนิมาลิส (Bifidobacterium animalis) เนื่องจากจุลินทรีย์ชนิดนี้จะช่วยย่นระยะเวลาที่อาหารอยู่ในลำไส้ ทำให้ขับถ่ายเร็วขึ้นครับ

    กลุ่มคนลำไส้ไว ถ่ายบ่อย 
     ให้ หลีกเลี่ยง พวกที่มี ไบฟิโดแบคทีเรียม แอนิมาลิส (Bifidobacterium animalis) ไม่งั้นคงต้องเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นอีก ให้เลือกที่มีตัวอื่นครับ

    กลุ่มคนปกติ 
     ให้ลองโพรไบโอติคส์ตัวไหนก็ได้ โดย
  • กินเช้า-เย็น วันละ 1-2 ถ้วย ทุกวัน ไป 2 สัปดาห์
  • เริ่มแรกท้องไส้อาจรู้สึกปั่นป่วน จากสงครามแย่งชิงพื้นที่ของจุลินทรีย์ ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติอย่างอื่น ก็กินต่อไป 
  • หลังจาก 2 สัปดาห์แล้ว ถ้ารู้สึกสบายท้องดี ก็ขอให้กินโพรไบโอติคส์นี้ต่อไปเรื่อยๆ ได้เลย แต่ถ้ารู้สึกไม่โอเค ก็ให้เริ่มต้นใหม่ด้วยจุลินทรีย์อื่น ใช้เวลาทดสอบ สัปดาห์ เหมือนเดิม
  • การกินโพรไบโอติคส์ให้ได้ผลดี ต้องกินอย่างต่อเนื่อง ห้ามกินๆหยุดๆ เพราะต้องมีจุลินทรีย์เข้าไปทดแทนพวกที่หมดอายุขัยด้วยครับ   
4. เลือกให้คุ้มค่า ดูจำนวนจุลินทรีย์ที่เขาใส่ อันนี้ดูจากฉลาก ยิ่งมากก็ยิ่งดี เพราะ กว่าจุลินทรีย์จะฝ่าด่านน้ำย่อย กรดในกระเพาะ น้ำดี ไปถึงลำไส้เราจำนวนจุลินทรีย์ที่มีชีวิตรอดก็ลดลงไปเยอะครับ

5. สุดท้าย คือ ถ้าเลือกแล้ว ลองแล้ว ไม่รู้สึกโอเค ก็กลับไปคบหาจุลินทรีย์เดิมในลำไส้เราได้ครับ โดยหยุดผลิตภัณฑ์โพรไบโอติคส์ ประมาณ 2 สัปดาห์ จุลินทรีย์ดั้งเดิมของท่านก็จะเติบโตตามปกติ

หมายเหตุ 


  • ทุกเรื่องราวของ vcanfit ท่านสามารถแขร์ได้เลย ไม่มีหวง จะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้คนในวงกว้าง ครับ
  • สงสัยเรื่องอาหาร/สุขภาพ อยากได้คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อิงหลักวิชาการ ลองเข้า Google พิมพ์ vcanfit  เว้นวรรค แล้วพิมพ์ คำที่ต้องการหา (เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้) จากนั้นกด ENTER ครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น