วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557

ลดเค็ม ลดโรค


เคยรู้สึกว่าทำไมตัวเรามันดูบวมๆ ไหมครับ แบบบางวันใส่เสื้อผ้าแล้วรู้สึกตึงเปรี๊ยะขึ้น เอเราก็ไม่ได้กินเยอะนี่นา อะไรทำนองนี้ ต้องลองมาดูเรื่องของความเค็มกันแล้วละครับ

ความเค็มคืออะไร
ความเค็มเป็นความรู้สึกที่เรารับรู้ได้จากตุ่มรับรสที่ลิ้น ซึ่งแต่ละคนก็จะรู้สึกถึงความเค็มได้ไม่เท่ากัน
สิ่งที่มากับความเค็ม คือ โซเดียม (Sodium) ซึ่งเป็นสารจำเป็นสำหรับร่างกายเรา ทำหน้าที่ในการควบคุมความสมดุลของของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ ฯลฯ
ร่างกายเราขาดโซเดียมไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ต้องการมากจนเกินไป
ร่างกายเรามีความสามารถรับโซเดียมได้ประมาณ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เท่านั้น
ถ้าได้รับโซเดียมมากจะเป็นยังไง
โซเดียมมีคุณสมบัติดูดน้ำ เพื่อนำมาผลิตเป็นพลาสม่า(น้ำเลือด) เจ้าความสามารถดูดน้ำนี้สังเกตุได้ง่ายๆ ครับ เวลาที่เรากินอาหารเค็มมากๆ มักจะทำให้กระหายน้ำมากขึ้น เพราะโซเดียมดึงน้ำเข้ามา
หลอดเลือด  ยิ่งได้รับโซเดียมมาก ก็ยิ่งดึงน้ำเข้ามามาก ทำให้เกิดการคั่งของน้ำในร่างกายมากขึ้น น้ำเลือดก็มากขึ้น(แต่หลอดเลือดกว้างเท่าเดิม) ทำให้ความดันโลหิตสูง ถ้าสูงมากๆ เส้นเลือดอาจแตก หรือฉีกขาดได้เลยครับ อันตรายมาก
ไต เมื่อได้รับโซเดียมบ่อยๆ ไตซึ่งทำหน้าที่ขับโซเดียมออกจากร่างกายก็ต้องทำงานหนัก อีกทั้งโซเดียมเป็นตัวเร่งการทำลายเส้นเลือดอยู่ด้วย พอเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไตถูกทำลายมากๆ ก็จะเร่งให้เกิดไตวายเรื้อรัง ในที่สุดก็ต้องไปนอนฟอกไต
โซเดียมมาจากไหนบ้าง
"มันมากับความเค็ม" พบว่าชาวประเทศแถบตะวันออกนั้น ปัญหารการได้รับโซเดียมเกิน มาจาก การเติมเครื่องปรุงเพิ่มในมื้ออาหาร

  • เกลือ 1 ช้อนชา มีโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม
  • น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,160-1,420 มิลลิกรัม
  • ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม
  • ซีอิ๊ว 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 960-1,420 มิลลิกรัม
  • ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 420-490 มิลลิกรัม
  • กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,430-1,490 มิลลิกรัม
นอกจากนี้เรายังได้รับ โซเดียม ที่ แฝงอยู่ในอาหาร ทั้งที่เค็มและไม่เค็ม ดังนี้
อาหารแปรรูป ผงชูรส ซุปก้อน อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารถุงปรุงสำเร็จ ขนมกรุบกรอบ ขนมที่ใช้ผงฟู น้ำผลไม้สำเร็จรูป 
แล้วเราจะทำยังไงดีกับเรื่องนี้
ก็ ลดโซเดียมลงสิครับ เริ่มง่ายๆ (แต่ลงมือทำยากนิดนึง อันนี้ต้องใช้ใจล้วนๆ ครับ)

  1. ตั้งเป้า ค่อยๆลดปริมาณความเค็มลงทีละ 5-10% ทีละนิด จนเหลือ 50% อาจใช้เวลา 5-6เดิอน ให้สมองค่อยๆ ปรับความเคยชิน จนเรากินได้อร่อยเหมือนเดิม แต่ได้รับโซเดียมลดลง
  2. ไม่ปรุงเพิ่ม ในการกินอาหารนอกบ้าน คนปรุงเขาประโคม น้ำปลา น้ำตาล ผงชูรส มาให้เยอะอยู่แล้วครับ
  3. ลดหวาน อันนี้อาจดูแปลกไม่น่าเกี่ยว แต่ก็เกี่ยวครับเพราะพอเราหวานเลี่ยน ร่างกายมักจะเรียกร้องรสเค็มมาตัด ดังนั้นการลดหวานก็ช่วยลดเค็มได้อีกทางครับ
  4. อ่านฉลาก อาหารที่มีฉลากกำกับ จะแสดงปริมาณโซเดียม และปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน ทำให้เราสามารถคำนวณปริมาณที่ควรกินได้อย่างง่ายๆ ครับ
ลองทำดูนะครับ แล้วจะรู้สึกดีกับตัวเองมาก "ลดเค็ม ก็ ลดโรค" ครับ

อ้างอิง จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับ สร้างสุข ปีที่ 10 ฉ.149 มี.ค.2557:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

หมายเหตุ 


  • ทุกเรื่องราวของ vcanfit ท่านสามารถแขร์ได้เลย ไม่มีหวง จะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้คนในวงกว้าง ครับ
  • สงสัยเรื่องอาหาร/สุขภาพ อยากได้คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อิงหลักวิชาการ ลองเข้า Google พิมพ์ vcanfit  เว้นวรรค แล้วพิมพ์ คำที่ต้องการหา (เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้) จากนั้นกด ENTER ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น