เนื้อปูก็ไม่ใช่ เนื้อปลาก็ไม่เชิง แต่เราเรียกกันว่า ปูอัด เพราะเป็นการนำเนื้อปลามาผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อเลียนแบบเนื้อปู ทั้งเรื่องของรสชาติ และลักษณะภายนอก ที่คล้ายเนื้อปูอลาสก้า ทำให้ดูน่ากินกว่าการกินเนื้อปลาเป็นไหนๆ
ปูอัดทำจากอะไร
- ปูอัด ภาษาทางการเรียกว่า เนื้อปูเทียม (Imitation Crab Stick)
- ปูอัดจะ ไม่มี ส่วนผสมของเนื้อปู อยู่ด้วยเลย
- ปูอัดถูกทำขึ้นเพื่อเลียนแบบ เนื้อปูอลาสก้า ปูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สังเกตุได้จากรูปร่างของปูอัดที่เป็นทรงกระบอก คล้ายเนื้อบริเวณก้ามและขาของปูอลาสก้า รวมไปถึงผิวสีแดงของปูอัด ก็เป็นการเลียนแบบปูอลาสก้าอย่างจงใจครับ
- ส่วนประกอบหลักของปูอัด คือ ซูริมิ (Surimi) ซึ่งทำมาจากปลาเนื้อสีขาวที่มีไขมันต่ำ ได้แก่ ปลาตาหวาน ปลาข้างเหลือง ปลาดาบ ปลากะพง ฯลฯ
- ปลาที่ใช้กันมากที่สุด คือ ปลาทรายแดง (ปลาอิโตโยริ) ปลาอลาสก้าพอลล็อค (Alaska Pollock)
- ส่วนประกอบอื่นๆ ที่ใช้ผสมเพื่อทำปูอัด คือ น้ำ แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง ไข่ขาว น้ำมันถั่วเหลือง เกลือ น้ำตาล ซอร์บิทอล (สารให้ความหวาน) โปรตีนจากถั่วเหลือง สารสกัดจากปู กลิ่นปู รสปู ส่วนผสมอาจแตกต่างไปบ้างตามสูตรของแต่ละเจ้า
- วิธีทำ เริ่มจากการนำปลามาตัดหัว ควักไส้ทิ้ง ส่งเข้าเครื่องบีบ รีดเอาแต่เนื้อปลาออกมา แล้วผสมกับ แป้ง น้ำตาล เกลือ ผงชูรส และกลิ่นปู เสร็จแล้วนำไปทำให้สุก และผ่านกระบวนการที่ทำให้เนื้อปลามีลักษณะเป็นเส้นเหมือนเนื้อปูจริงๆ แล้วอัดเป็นแท่งยาวๆ ตกแต่งสีให้ดูเหมือนเนื้อปู ก็เป็นอันเรียบร้อย
- ปลาที่จับได้ในปัจจุบันส่วนใหญ่นั้นจะมีขนาดเล็กมาก (เรียกรวมๆ ว่า ปลาเป็ด ) ขายไม่ได้ราคา จึงทำให้ 90% ของปลาเป็ด จะถูกนำไปทำเป็นปลาป่นสำหรับใช้ผลิตอาหารสัตว์ ต่อมามีบริษัทในญี่ปุ่นได้คิดค้นวิธีการนำปลาเป็ด มาทำเป็นเนื้อปูเทียมขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518
- ไทยเราเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการทำประมงมิใช่น้อย และมีโรงงานผลิตปูอัดมานานหลายปีแล้ว ปลาที่ใช้ได้แก่ ปลาทรายแดง ปลาทรายขาว ปลาตาโต และ ปลาดาบ
ประโยชน์ของปูอัด
- เป็นอาหารโปรตีนที่ย่อยง่าย เนื่องจากปูอัดมีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นเนื้อปลา อาจมีแป้งปนบ้าง มากน้อยตามคุณภาพ และราคา แต่ก็ยังมีส่วนประกอบหลักคือเนื้อปลา (ถ้าไม่ดวงจู๋ไปเจอแบบคุณภาพต่ำมาก ใส่แป้งมากมายนะครับ) เวลาเลือกซื้อก็ดูให้ดีๆ ครับ
- ปูอัดสามารถนำมาประกอบอาหารได้มากมาย แม้กระทั่งกินเล่นเป็นอาหารว่างสำหรับคนลดความอ้วนก็ยังได้ เพราะให้พลังงาน แท่งละ ประมาณ 30 กิโลแคลอรี่ เท่านั้นครับ
วิธีการเลือกซื้อปูอัด
- ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องมีขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกัน
- เนื้อปูอัดต้องไม่แตกหรือยุ่ยเละ
- เนื้อปูอัดสามารถแยกออกเป็นเส้นได้
- เนื้อปูอัดต้องมีสีขาว ส่วนที่เป็นผิวต้องมีสีสม่ำเสมอ
- ต้องมีกลิ่นรสปกติของปูอัด ไม่มีกลิ่นเหม็น หรือรสเปรี้ยว
ปิดท้าย
แม้ปูอัดจะเป็นเพียงแค่สิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากการประมง ที่ทำขึ้นเพื่อเลียนแบบปูอลาสก้า
แต่ด้วยความเอร็ดอร่อย และความง่ายในการนำมาปรุงอาหาร สุดท้ายแล้วปูอัดก็ยังคงเป็นของกินเล่นยอดนิยมไปอีกนานครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น