วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

ตะคริว...เจ็บปวดนัก



ใครไม่เคยเป็น "ตะคริว" จะไม่รู้เลยว่า มันทั้งเกร็ง ทั้งเจ็บปวด จนบอกไม่ถูก เหมือนเราควบคุมกล้ามเนื้อตรงนั้นไม่ได้เลยละครับ 

ตะคริว : Muscle Cramps

  • หมายถึง การหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบางมัดอย่างรวดเร็ว และ ไม่สามารถควบคุมได้ 
  • อาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อมัดไหนของร่างกายก็ได้ แต่ที่พบบ่อยๆ ได้แก่ กล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อเท้า และ กล้ามเนื้อต้นขา ครับ
  • กล้ามเนื้อจะหดเกร็งตัวเองโดยสมองไม่ได้สั่งให้หดตัว และ ไม่สามารถควบคุมให้กล้ามเนื้อมัดนั้นๆ คลายตัวลงได้ อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจนานเป็นวินาที หรือหลายนาที ก็ได้ครับ

อาการ

  • กล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว จะมีอาการแข็งตัว และปวดมาก 
  • ถ้าพยายามขยับเขยื้อนกล้ามเนื้อส่วนนั้นๆ ก็จะยิ่งแข็งตัว และปวดมากขึ้น
  • คลำดูจะรู้สึกกว่าแข็งเป็นก้อน 
  • เมื่อปล่อยไว้สักพัก กล้ามเนื้อส่วนนั้นจะคลายตัวได้เองทีละน้อยจนหายเป็นปกติได้

สาเหตุ

  1. การใช้กล้ามเนื้อนั้นซ้ำๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
  2. การทำงานหนักจนกล้ามเนื้ออ่อนล้า เช่น นักกีฬา 
  3. ภาวะขาดเกลือแร่ และ น้ำ ได้แก่ ภาวะท้องเดิน เสียเหงื่อมากๆ อาเจียน 
  4. เกิดจากการกระแทกที่ทำให้กล้ามเนื้อฟกช้ำ 
  5. ออกกำลังกายโดยไม่ได้วอร์มอัพ กล้ามเนื้อที่ตึงอย่างรวดเร็วจากการออกกำลังจะเป็นตะคริวได้
  6. การนอน นั่ง หรือยืนในท่าที่ไม่สะดวกนาน ๆ ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่สะดวก อาจเกิดตะคริวได้
  7. การไหลเวียนเลือดไปที่ขาไม่ดี เช่นในผ้สูงอายุ
  8. การใช้ยาบางชนิด อาจทำให้เกิดตะคริวได้ เช่น ยาลดความดัน ยาลดไขมัน 

การปฐมพยาบาล 

ตะคริวที่น่อง 

  1. เหยียดขาข้างที่เป็นตะคริวให้ตรง 
  2. ใช้มือข้างหนึ่งประคองส้นเท้า และ มืออีกข้างค่อย ๆ ดันปลายเท้าขึ้นลงให้เต็มที่อย่างช้า ๆ 
  3. ทำประมาณ 5 นาที 
  4. นวดเบา ๆ ที่น่อง หรืออาจทายานวด เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น

ตะคริวที่ต้นขา 

  1. เหยียดขาข้างที่เป็นตะคริวให้ตรง 
  2. ใช้มือข้างหนึ่งประคองส้นเท้า และ มืออีกข้างกดลงบนหัวเข่า 
  3. ค่อยๆ นวดบริเวณที่เป็นตะคริวเบาๆ

ตะคริวที่นิ้วเท้า  

  1. เหยียดนิ้วเท้าให้ตรง
  2. ค่อยๆ นวดบริเวณนิ้วเท้าเบาๆ หรือ พยายามยืนเขย่งเท้า

การป้องกัน

  1. บริหารกล้ามเนื้อ(ที่เป็นตะคริวบ่อยๆ) แบบยืดเหยียด (Stretching Exercise) 
  2. ทำการอบอุ่นร่างกาย(วอร์มอัพ) ทุกครั้งก่อนออกกำลังกาย
  3. ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ วันละ 6-8 แก้ว

ส่งท้าย

  • ถ้าเป็นบ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุต่อไป ว่ามีความผิดปกติในระบบไหลเวียนเลือด รวมทั้งความผิดปกติอื่นๆ หรือไม่

หมายเหตุ

  • ทุกเรื่องราวของ vcanfit ท่านสามารถแขร์ได้เลย ไม่มีหวง จะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้คนในวงกว้าง ครับ
  • สงสัยเรื่องอาหาร/สุขภาพ อยากได้คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อิงหลักวิชาการ ลองเข้าGoogle พิมพ์ vcanfit  เว้นวรรค แล้วพิมพ์ คำที่ต้องการหา (เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้) จากนั้นกด ENTER ครับ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น