วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558

ตำลึงตัวเมีย กับ ตำลึงตัวผู้ : Ivy Gourd


    ตำลึง พืชที่ผูกพันกับเรามาตลอด ตั้งแต่ต้นเดือนที่เอามาทำต้มจืดตำลึงใส่หมูสับ จนถึงปลายเดือนที่บางคนต้องอาศัยใบตำลึงริมรั้วต้มกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อยังชีพ  

ตำลึง (Ivy Gourd)

  • เป็นไม้เถา อยู่ได้หลายปี เถาสีเขียวตามข้อมีมือเกาะ 
  • ใบมีรูปร่าง 5 เหลี่ยม เนื้อใบเรียบ ใบอ่อนเป็นมันเงา 
  • ดอกสีขาว ข้างในมีเกสรสีเหลืองอ่อน 
  • ผลคล้ายลูกแตงกวา แต่ขนาดเล็กกว่า ผลดิบสีเขียว และมีลายขาว เมื่อลูกสุกเต็มที่สีแดงสด 
  • มักขึ้นเองจากเมล็ดที่นกกินแล้วถ่ายมูลไว้ 

ประโยชน์ของใบตำลึง

  • ยอดและใบอ่อนตำลึง(ตัวเมีย) นำมาลวกจิ้มน้ำพริก ผัดน้ำมัน ใส่ในแกงจืด ใส่ก๋วยเตี๋ยว ชุบแป้งทอด ฯลฯ
  • ตำลึง 100 กรัม ให้สารอาหารที่มีประโยชน์หลายชนิด เช่น โปรตีน 3.3 กรัม แคลเซียม 126 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 4.6 มิลลิกรัม เส้นใยอาหาร 1 กรัม วิตามินA 18608 หน่วยสากล และให้ เบต้าแคโรทีนสูงถึง 699.88 ไมโครกรัม (มากกว่าฟักทองซึ่งมีเบต้าแคโรทีน 225 ไมโครกรัม/100 กรัม เสียอีก)
  • เบต้าแคโรทีน จำนวนมากในใบตำลึง จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง และโรคหัวใจขาดเลือดได้
  • วิตามินA ในใบตำลึงช่วยบำรุงสายตา
  • เส้นใยอาหารทจะช่วยเรื่องการขับถ่าย 
  • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟัน
  • ธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงโลหิต
  • ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ตัวร้อน ดับพิษฝี แก้ปวดแสบปวดร้อน แก้คัน 
  • ลดอาการคัน เนื่องจากแมลงกัดต่อย เช่น มดคันไฟ ตัวบุัง รวมทั้งพืชมีพิษ เช่น ตำแย โดย นำใบตำลึงสดมาตำให้ละเอียดแล้วผสมน้ำ คั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่เป็น

จริงหรือที่ตำลึงมีสองแบบ? 

1. ตำลึงตัวเมีย และ ตำลึงตัวผู้

  • เป็นพืชใน วงศ์เดียวกัน คือ Cucurbitaceae (วงศ์เดียวกับแตงกวา) แต่ ต่างสกุล กัน ครับ 

2. ตำลึงตัวเมีย 

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Coccinia grandis (L.) J.Voigt
  • เป็น ตำลึงที่เราพบเห็นได้ทั่วไป และ มีขายตามตลาด ครับ
  • มีเนื้อใบเต็มเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือห้าเหลี่ยม และไม่เป็นแฉกมากนัก 
  • มีดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น จึงอาจพบตำลึงตัวเมียต้นเพศผู้ และตำลึงตัวเมียต้นเพศเมีย ซึ่งมีลักษณะเหมือนกันครับ 

3. ตำลึงตัวผู้

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Solena amplexicaulis (Lam.) Gandhi
  • ใบมีลักษณะแตกต่างจากตำลึงตัวเมีย โดยจะเว้าด้านข้าง เห็นเป็นแฉกชัดเจน และมักจะมีก้านใบสั้นมาก ต่างจากตำลึงตัวเมียที่มีก้านใบยาว 1-2 ซม. 
  • หัวของตำลึงตัวผู้ใช้เป็นยาระบาย 
  • ว่ากันว่า ถ้ากินใบตำลึงตัวผู้แล้วจะถ่ายท้อง แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันอย่างชัดเจนว่า ใบของตำลึงตัวผู้เป็นยาระบายด้วยแต่อย่างใดครับ แต่เพื่อความสบายใจบางคนเวลาซื้อใบตำลึงมาถึงบ้าน ตอนเด็ดใบล้าง ก็มักจะคัดตำลึงตัวผู้ที่อาจปะปนมาออกครับ

ส่งท้าย

  • ผมเป็นคนหนึ่งที่เคยรำคาญ เวลาเห็นตำลึง พันเกี่ยวต้นไม้ต่างๆ ในบ้าน เลยจัดการถอนทิ้งเรื่อยๆ 
  • ตอนถอนทิ้ง เห็นใบอ่อนๆ ยอดอวบๆ เลยเก็บมาใส่ไข่เจียว ก็อร่อยดี แถมมีประโยชน์ด้วย 
  • ตอนนี้เลยจัดการให้เขาอยู่เป็นที่เป็นทาง เอาไว้เก็บกินได้ทุกเมื่อครับ

หมายเหตุ 


  • ทุกเรื่องราวของ vcanfit ท่านสามารถแขร์ได้เลย ไม่มีหวง จะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้คนในวงกว้าง ครับ
  • สงสัยเรื่องอาหาร/สุขภาพ อยากได้คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อิงหลักวิชาการ ลองเข้า Google พิมพ์ vcanfit  เว้นวรรค แล้วพิมพ์ คำที่ต้องการหา (เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้) จากนั้นกด ENTER ครับ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น