วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ลดพฤติกรรมแน่นิ่ง ก่อนที่จะสายเกินไป : Sedentary Behavior


    พฤติกรรมแน่นิ่ง เป็นคำที่ได้ยินบ่อยขึ้นทุกที จากความประพฤติของคนเราทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ทำให้องค์กรสุขภาพต่างๆ เป็นห่วง ห่วงว่าถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป จะสร้างโรงพยาบาลเพิ่มอีกกี่แห่งก็คงรองรับได้ไม่เพียงพอ

พฤติกรรมแน่นิ่ง(Sedentary Behavior)

  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส) บอกไว้ว่า คนที่ใช้เวลาอยู่นิ่งๆ ไม่ค่อยขยับเนื้อตัว หรือมีอัตราการขยับต่ำ จัดเป็นผู้ที่มี พฤติกรรมแน่นิ่ง (Sedentary Behavior) ซึ่ง ถ้านานเกิน 4 ชั่วโมง/วัน ถือว่าน่าเป็นห่วง
  • พฤติกรรมที่เข้าข่ายการแน่นิ่ง เช่น นั่งเรียนหนังสือ นั่งทำงาน นั่งประชุม นั่งอยู่บนรถขณะรถติด นั่งดูทีวี และที่สำคัญมากในตอนนี้ คือ นั่งจ้องหน้าจอสมาร์ทโฟน 
  • รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกิดภาวะอ้วนมากขึ้นคือ มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย จากการวิจัยพบว่า ใน 24 ชั่วโมง คนไทยมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย หรือที่เรียกว่า อาการแน่นิ่ง สูงมาก คือ 13.4 ชั่วโมง (สูงกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 6-7 ชั่วโมง)
  • ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า การสำรวจในปี 2552 พบว่า อัตราส่วนผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วน คือ 1:3 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ซึ่งพบอัตราส่วน 1:5 คน สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจาก พฤติกรรมแน่นิ่ง นี่แหละครับ
  • งานวิจัยเรื่อง พฤติกรรมการใช้สื่อใหม่ของวัยรุ่นอายุระหว่าง 10-19 ปี โดย ผศ.ดร.บุหงา ชัยสุวรรณ และ ดร.พรพรรณ ประจักษ์เนตร คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พบว่า เด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ส่วนใหญ่จะใช้โปรแกรมสนทนาทางอินเตอร์เน็ต เฉลี่ย 10 ชั่วโมง/วัน และ ใช้อย่างต่อเนื่องนานสูงสุดเกือบ 2 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมแน่นิ่งที่จะนำไปสู่โรคอ้วนได้

ลดพฤติกรรมแน่นิ่ง ก่อนที่จะแน่นิ่งไปจริงๆ

  • สิ่งที่จะทำให้สุขภาพคนเราดีได้ คือ การมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน ลดพฤติกรรมแน่นิ่งลง 
  • กิจกรรมทางกายที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน ได้แก่ การเดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ การเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน แทนการใช้รถยนต์ หรือรถประจำทาง การทำงานบ้าน ฯลฯ
  • ถ้าใครสามารถทำได้มากกว่า การมีกิจกรรมทางกาย ไปสู่ การออกกำลังกาย ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพมากๆ ครับ  
  • ถ้าเรา หมั่นดูแลตัวเอง และ กระฉับกระเฉงอยู่เสมอ โรคภัยต่างๆ ที่คอยจ้องจะเข้ามาตอนเราอ้วน ก็แทบไม่มีโอกาสครับ   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น