วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558

น้ำมันตับปลา vs น้ำมันปลา : Cod Liver Oil vs Fish Oil


    น้ำมันตับปลา เป็นผู้มาก่อน ยืนระยะมาแสนนานจนถึงวันนี้ ส่วน น้ำมันปลา มาทีหลัง แต่โด่งดังกว่าเยอะ ลองมาดูว่าน้ำมันจากปลาทั้งสองแบบ แตกต่างกันอย่างไรครับ

น้ำมันตับปลา (Cod Liver Oil/Shark Liver Oil)

  • สกัดจากตับปลาทะเล
  • ถ้าสกัดจากปลาคอด เรียกว่า Cod Liver Oil (CLO)
  • ถ้าสกัดจากปลาฉลาม เรียกว่า Shark Liver Oil (SLO)
  • มี กลิ่นรสคาวแรงจัด จนต้องนำมาบรรจุในแคปซูลนิ่ม ให้กลืนลงไปเลย แต่ถ้าทำเป็นยาน้ำต้องใช้เทคนิคทางเภสัชกรรมมากมายเพื่อกลบกลิ่นคาว
  • น้ำมันตับปลา เป็นแหล่งของ วิตามินA และ D ใช้เสริมสร้างกระดูก ในเด็กที่กำลังเจริญเติบโต หรือให้คนที่ขาดวิตามินสองตัวนี้
  • วิตามินA และ D เป็นวิตามินที่สามารถสะสมในร่างกายได้ ดังนั้น ถ้าได้รับมากเกินไปก็จะสะสมจนเป็นพิษต่อร่างกายได้ เช่นปวดหัว และเป็นพิษต่อไต
  • การกินน้ำมันตับปลาใน หญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกในครรภ์ผิดปกติได้

น้ำมันปลา (Fish Oil)

  • เราเริ่มสนใจน้ำมันปลา เนื่องจากมีคนสังเกตุว่า ชาวเอสกิโม และชาวญี่ปุ่น มีอัตราการตายจากโรคหัวใจขาดเลือดต่ำกว่าคนชาติอื่นๆมาก เพราะ กินปลาทะเลเป็นอาหารหลัก
  • เป็นน้ำมันที่ได้จากปลา และสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะน้ำจืด หรือน้ำเค็ม
  • กรดไขมันของน้ำมันปลา ได้แก่ EPA และ DHA (คำเต็มเรียกยากๆ คือ  Eicosapentaenic acid และ Docosacexaenoic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จัดอยู่ในกลุ่ม ไขมันโอเมก้า-3 (Omega-3 fatty acids) 
  • ผลต่อสุขภาพที่สำคัญของน้ำมันปลา คือ บำรุงสมอง สายตา ลดความดันเลือด ลดไขมันในเลือด และ ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด
  • ปลาที่มีไขมันมาก ก็จะมีโอเมก้า-3 มาก ไม่ว่าจะเป็น ปลาแซลมอล ปลาทูน่า หรือปลาไทย ๆ ของเรา เช่น ปลาทู ก็มีกรดไขมันโอเมก้า-3 อยู่มากด้วยครับ
  • ปลาน้ำจืดที่มีโอเมก้า-3 สูงสุด ได้แก่ ปลาสวาย และ ปลาช่อน
  • ปลาสวายเนื้อขาว มีโอเมก้า-สูงถึง 2,570 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัมปลาช่อน มี 870 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ขณะที่ ปลาแซลมอลมี 1,000-1,700 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม 
  • จะเห็นได้ว่าปลาน้ำจืดราคาถูกอย่าง ปลาสวาย ก็มี โอเมก้า-3 สูงไม่ใช่เล่นนะครับ ปลาช่อนก็ไม่เบา
  • น้ำมันปลามีมากที่ หัว พุง และ หนัง (คราวหน้าก็อย่าลอกหนังปลาทิ้งนะครับ เสียดาย)
  • น้ำมันปลาหายไปได้โดยความร้อนจึง ไม่ควรใช้ความร้อนสูงมากๆ ในการปรุง
  • การนึ่งปลา จะ ถนอมน้ำมันปลาได้ดีที่สุด
  • ถ้า ต้ม ต้องให้น้ำเดือดจัดๆ ก่อน ค่อยใส่ปลา และห้ามคน เพราะเนื้อปลาจะแตก น้ำมันปลาออกมา น้ำแกงจะคาว และต้องตามซดน้ำแกงให้หมดหม้อถึงจะได้โอเมก้า-3 ครบ 
  • ถ้า ปิ้งปลา ก็พยายามอย่าให้น้ำมันปลาไหล หยด ออกมาลงเตาไฟหมด
  • การทอดปลา เป็น การปรุงอาหารจากปลาที่แย่ที่สุด เพราะเราจะเสีย โอเมก้า-3 ไปกับน้ำมันที่ทอดจนเกือบหมด
  • ปลาดิบ มีโอเมก้า-3 อยู่มากที่สุด แต่ไม่คุ้มที่ต้องเสี่ยงกับโรคพยาธิครับ 
  • มีงานวิจัยที่ให้ผู้ป่วยโรคหัวใจ กินน้ำมันปลาวันละ 3,000 มิลลิกรัม ร่วมกับวิตามินE 200-400 ยูนิต พบว่า สามารถลดความเสี่ยงจากอาการหัวใจล้มเหลวลงได้ถึง 15% เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้กิน

ส่งท้าย

  • น้ำมันตับปลา และ น้ำมันปลา มีข้อบ่งใช้แตกต่างกันอย่างชัดเจน
  • การกินผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปทั้งสองชนิด ควรศึกษาให้เข้าใจดีก่อน หรือปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ดูครับ

หมายเหตุ 


  • ทุกเรื่องราวของ vcanfit ท่านสามารถแขร์ได้เลย ไม่มีหวง จะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้คนในวงกว้าง ครับ
  • สงสัยเรื่องอาหาร/สุขภาพ อยากได้คำตอบแบบสั้นๆ ง่ายๆ ที่อิงหลักวิชาการ ลองเข้า Google พิมพ์ vcanfit  เว้นวรรค แล้วพิมพ์ คำที่ต้องการหา (เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ได้) จากนั้นกด ENTER ครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น